หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ผลักดันมาตรการ ช่วยผู้ประกันตน ผู้ใช้แรงงาน จากสถานการณ์ภาวะวิกฤตการแพร่ระบาดจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วยการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมทั้งวิเคราะห์ผลกระทบที่เกิดต่อผู้ประกันตน ผู้ใช้แรงงาน กระทรวงแรงงาน จึงผลักดันให้มีการแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้รัฐบาลมีมติคณะรัฐมนตรีรวม 2 ครั้ง ในวันที่ 24 มีนาคม 2563 และ 31 มีนาคม 2563 โดยสรุปมาตรการทั้งหมดได้ดังนี้
1. ลดอัตราเงินสมทบ นายจ้าง เหลือร้อยละ 4 ผู้ประกันตนมาตรา 33 เหลือร้อยละ 1 และผู้ประกันตนมาตรา 39 เหลือ 86 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน (มีนาคม – พฤษภาคม 2563)
2. ขยายระยะเวลานำส่งเงินสมทบ ของนายจ้าง และ ผู้ประกันตนมาตรา 33, 39
สำหรับงวดเดือน มีนาคม – พฤษภาคม ออกไปอีก 3 เดือน
ค่าจ้าง เดือน มีนาคม 2563 ให้นำส่งภายใน 15 กรกฎาคม 2563
ค่าจ้าง เดือน เมษายน 2563 ให้นำส่งภายใน 15 สิงหาคม 2563
ค่าจ้าง เดือน พฤษภาคม 2563 ให้นำส่งภายใน 15 กันยายน 2563
3. เพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัย กรณีผู้ประกันตนไม่ได้ทำงาน หรือนายจ้างไม่ให้ทำงานกักตัว 14 วัน เนื่องจากสัมผัสหรือใกล้ชิดผู้ติดเชื้อโควิด-19 และกรณีหน่วยงานภาครัฐมีคำสั่งให้นายจ้างหยุดประกอบกิจการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดต่ออันตราย ให้ได้รับเงินว่างงานร้อยละ 62 ของค่าจ้างรายวัน ไม่เกิน 90 วัน
4. เพิ่มเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีว่างงาน ให้ผู้ประกันตนที่ลาออก ให้รับเงินกรณีว่างงานร้อยละ 45 ของค่าจ้างไม่เกิน 90 วัน และผู้ประกันตนที่ถูกเลิกจ้างรับเงินกรณีว่างงานร้อยละ 70 ของค่าจ้าง ไม่เกิน 200 วัน ทั้งสองกรณีนั้น (บังคับใช้ 2 ปี)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวต่อว่า มาตรการที่กล่าวมานั้นเป็นมาตรการเบื้องต้น ที่เร่งให้การช่วยเหลือและให้มีผลใช้บังคับโดยเร็ว แต่กระทรวงแรงงานโดยสำนักงานประกันสังคมยังคงเฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์เพื่อหาทางช่วยเหลือผู้ประกันตน ผู้ใช้แรงงาน อย่างต่อเนื่องต่อไป
ศูนย์สารนิเทศ สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน