‘กรมเจรจาฯ’ แนะผู้ประกอบการเพิ่มแปรรูปผลไม้พร้อมใช้เอฟทีเอช่วยขยายตลาดช่วงวิกฤตโควิด-19

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ แนะเกษตรกรและผู้ประกอบการสินค้าผลไม้เน้นแปรรูปผลผลิตเพื่อส่งออก พร้อมใช้เอฟทีเอช่วยขยายตลาด รับความต้องการที่เพิ่มขึ้นช่วงวิกฤตไวรัสโควิด-19

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้หลายประเทศมีความต้องการบริโภคอาหารที่เก็บไว้ได้นานโดยไม่เน่าเสียเพิ่มขึ้น จึงแนะนำให้เกษตรกรและผู้ประกอบการในกลุ่มสินค้าผลไม้ปรับเปลี่ยนรูปแบบผลผลิต โดยเน้นการผลิตและส่งออกผลไม้แปรรูปมากขึ้น เช่น ผลไม้แห้ง ผลไม้กวน แยมผลไม้ น้ำผลไม้ และผลไม้กระป๋อง เป็นต้น

นางอรมน ให้ข้อมูลว่า ที่ผ่านมา ผลิตภัณฑ์ผลไม้กระป๋องและผลไม้แปรรูปของไทย ได้รับการยอมรับว่ามีคุณภาพ รวมถึงมีศักยภาพในการผลิตและส่งออกสูงเป็นอันดับที่ 5 ของโลก รองจากสหภาพยุโรป จีน สหรัฐอเมริกา และสเปน ซึ่งความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยผลักดันให้ผลิตภัณฑ์ผลไม้กระป๋องและผลไม้ แปรรูปของไทยเติบโตได้ในตลาดโลก โดยปัจจุบัน 13 ประเทศคู่เอฟทีเอ ได้แก่ อาเซียน 9 ประเทศ  ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี และฮ่องกง ได้ยกเลิกภาษีศุลกากรที่เก็บกับสินค้าผลไม้กระป๋องและแปรรูปทุกรายการจากไทยแล้ว เหลือเพียง จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย และเปรู ที่ยังคงเก็บภาษีนำเข้าบางรายการ

นางอรมน เสริมว่า เมื่อเปรียบเทียบมูลค่าการส่งออกผลไม้กระป๋องและแปรรูปของไทย ปีก่อนที่ไทยจะมีเอฟทีเอฉบับแรกกับอาเซียนในปี 2535 จนถึงปัจจุบัน พบว่าเอฟทีเอช่วยผลักดันการส่งออกสินค้าผลไม้กระป๋องและผลไม้แปรรูปของไทยให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 190 เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกไปประเทศคู่เอฟทีเอรายประเทศ พบว่าขยายตัวขึ้นอย่างน่าพอใจ โดยจีนขยายตัวสูงสุดถึงร้อยละ 968 รองลงมาคือ อาเซียน ขยายตัวร้อยละ 688 ออสเตรเลีย ขยายตัวร้อยละ 259  และเกาหลีใต้ ขยายตัวร้อยละ 174 ส่งผลให้ในปี 2562 ไทยส่งออกสินค้าผลไม้กระป๋องและผลไม้แปรรูปไปทั่วโลกรวมเป็นมูลค่า 1,634 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยผลไม้แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไทยส่งออกไปตลาดโลกได้มากที่สุด มูลค่า 665 ล้านเหรียญสหรัฐ มีสัดส่วนร้อยละ 41 เมื่อเทียบกับส่วนแบ่งตลาดสินค้าผลไม้กระป๋องและแปรรูปทั้งหมด รองลงมา คือ น้ำผลไม้ มูลค่าส่งออก 572 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วนส่งออกร้อยละ 35 และผลไม้กระป๋อง มูลค่าส่งออก 398 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วนส่งออกร้อยละ 24 ประเทศคู่ค้าสำคัญ 5 อันดับแรก คือ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป อาเซียน ญี่ปุ่น และ จีน

นางอรมน เพิ่มเติมว่า ตลาดผลไม้กระป๋องและแปรรูปมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคสมัยใหม่ที่ต้องการความสะดวกในการดำเนินชีวิตมากขึ้น และในช่วงที่สินค้าผลไม้สดกำลังเผชิญปัญหาการส่งออกชะงักงันจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 จึงถือเป็นโอกาสที่เกษตรกรและผู้ประกอบการไทยจะเพิ่มการแปรรูปสินค้าผลไม้สด เป็นผลไม้กระป๋องและผลไม้แปรรูป โดยเฉพาะผลไม้เมืองร้อนที่เป็นจุดแข็งของไทย เพื่อขยายส่งออกไปตลาดที่ไทยมีแต้มต่อจากเอฟทีเอและตลาดโลก ขณะเดียวกันผู้ประกอบการควรรักษาคุณภาพและพัฒนามาตรฐานการผลิตสินค้า เพื่อลดอุปสรรคการกีดกันทางการค้าที่ประเทศผู้นำเข้านำมาบังคับใช้ เช่น มาตรฐาน HACCP (Hazard Analysis Critical Control Point) และมาตรฐาน GMP (Good Manufacturing Practice) รวมทั้งมาตรการติดฉลากอาหาร เป็นต้น


กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กระทรวงพาณิชย์

1 เมษายน 2563