ประธาน กสม. ชี้ รัฐพึงคัดกรองผู้ติดเชื้อโรคโควิด 19 ด้วยชุดตรวจแบบรวดเร็ว นอกเหนือจากการเว้นระยะห่างระหว่างกัน

นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนฉบับหนึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ เกี่ยวกับแนวทางการทำงานของ กสม. ที่ผ่านมา และในสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีการระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 ซึ่งเป็นโรคที่ติดต่อได้ง่ายและเป็นอันตรายต่อชีวิตของผู้ได้รับเชื้อ ในขณะที่ยังไม่มีวัคซีนป้องกันหรือยารักษาโรคโดยตรง

“กสม. มีหน้าที่และอำนาจ 2 ด้านหลัก คือ การส่งเสริมและการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เพื่อเป็นสะพานเชื่อม ให้รัฐและประชาชนมีความเข้าใจและอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขในสังคมโลก” นายวัส กล่าว

ต่อมาพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม ถึงวันที่ 30 เมษายน 2563 พร้อมทั้งออกประกาศ มีคำสั่ง และออกข้อกำหนดและแนวปฏิบัติหลายประการ เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาให้ยุติลงได้โดยเร็ว

“ในการแก้ไขการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่อุบัติขึ้นเมื่อปลายปี ค.ศ. 2019 จะกระทำให้สำเร็จได้ก็ต่อเมื่อรัฐบาลได้รับความร่วมมือจากประชาชนซึ่งมีจิตสำนึกในความรับผิดชอบต่อสังคมร่วมกัน แต่ปรากฏการณ์นี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ

1. รัฐบาลและองค์กรที่เกี่ยวข้องได้ให้องค์ความรู้เกี่ยวกับโรคนี้อย่างแท้จริง เป็นเหตุให้ประชาชนเฝ้าระวังตนเอง และเว้นระยะห่างระหว่างกัน (Social Distancing) ไม่น้อยกว่า 1 เมตร อย่าอยู่ใกล้ชิดกันไม่ว่าจะเป็นคนที่รู้จักกันหรือไม่ก็ตาม

2. รัฐบาลและองค์กรที่เกี่ยวข้องพึงอำนวยความสะดวกให้ประชาชนผู้เจ็บป่วยได้เข้าถึงการคัดกรองตั้งแต่แรก สามารถร้องขอให้ตรวจเชื้อโรคนี้และรับการรักษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การคัดกรองเชื้อโรคนี้ด้วยชุดตรวจแบบรวดเร็ว (Rapid Test Kit) ซึ่งใช้งบประมาณน้อย หากผู้เจ็บป่วยได้ร้องขอให้ตรวจหาเชื้อโรคนี้ แต่ได้รับการปฏิเสธการตรวจ ผลสุดท้ายน่าจะเลวร้ายกว่าการรับตรวจให้เมื่อเทียบกับการที่รัฐต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อโรคนี้ เนื่องจากหลุดจากการคัดกรองตั้งแต่แรก และนำไปสู่การแพร่เชื้อโรคต่อไปโดยไม่รู้ตัว” ประธาน กสม. กล่าวในที่สุด


สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

1 เมษายน 2563