ชป.เดินหน้าจ้างแรงงานต่อเนื่อง หลังยอดผู้จ้างแรงงานทั่วประเทศทะลุกว่า 10,700 คน

กรมชลประทาน  ยังคงเดินหน้าโครงการจ้างแรงงานช่วยเหลือเกษตรกรทั่วประเทศ ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง ล่าสุดยอดจ้างแรงงานทะลุกว่า 10,700 คนแล้ว ตั้งเป้าให้ได้ตามยอดประมาณ 58,000 คน หวังบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรให้ได้มากที่สุด

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ภัยแล้งที่กำลังเกิดขึ้นและสถานการณ์โรคระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรเป็นอย่างมาก ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความห่วงใยพี่น้องเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรทั่วประเทศ

ในส่วนของกรมชลประทาน ได้ดำเนินการตามนโยบายช่วยเหลือของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ด้วยการดำเนินโครงการจ้างแรงงานในปีงบประมาณ 2563 สำหรับงานซ่อมแซม บำรุงรักษา ขุดลอก ปรับปรุงงานชลประทาน ก่อสร้างแหล่งน้ำ ระบบส่งน้ำ แก้มลิง การจัดการคุณภาพน้ำ และโครงการป้องกันและบรรเทาภัยจากน้ำ โดยจะดำเนินการจ้างแรงงานทั่วทุกภาคของประเทศ ในวงเงินงบประมาณ 4,050 ล้านบาท สามารถจ้างแรงงานได้ไม่น้อยกว่า 58,300 คน ระยะเวลาในการจ้าง 3-7 เดือน โดยเกษตรกรที่ร่วมโครงการฯจะได้รับค่าจ้างวันละ 377.85 บาท หรือประมาณเดือนละ 8,000 บาท รายได้ตลอดระยะเวลาการจ้างแรงงานอยู่ระหว่าง 24,000-56,000 บาท/คน ขึ้นอยู่กับระยะเวลาและลักษณะของงานที่ทำ เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ทดแทนจากการสูญเสียรายได้ทางการเกษตร ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น

ปัจจุบัน(31 มี.ค. 63 ) กรมชลประทาน โดยโครงการชลประทานทุกแห่ง ได้ดำเนินการจัดจ้างแรงงานทั่วประเทศไปแล้วรวมกว่า 10,700 คน ซึ่งจะดำเนินการจ้างแรงงานให้ครบตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ประมาณ 58,000 คน นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะปรับงบประมาณที่เหลือจากงานด้านต่างๆ มาใช้เป็นงบประมาณการจ้างแรงงานให้มากขึ้น เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบให้ได้มากที่สุด หากเกษตรกรท่านใดสนใจที่จะสมัครเข้ารับการจัดจ้างแรงงานกับกรมชลประทาน สามารถติดต่อสอบถามได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทร.สายด่วน    กรมชลประทาน หมายเลข 1460

อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์โรคระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น  กรมชลประทาน จึงได้กำหนดแนวทางในการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยสั่งการไปยังโครงการชลประทานทั่วประเทศ กำหนดให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจ้างแรงงาน ให้ปฏิบัติหน้าที่ภายในเขตพื้นที่ที่ตนสมัครเท่านั้น หากจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายแรงงานเพื่อออกไปปฏิบัติในพื้นที่อื่น จะต้องปฏิบัติตามมาตรการของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือ ศบค. ของรัฐบาล และตามประกาศของจังหวัดต่างๆ อย่างเคร่งครัด


กรมชลประทาน

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

31 มีนาคม 2563