ศูนย์ HPVC ของ อย. ได้รับแจ้งจากกระทรวงสาธารณสุขบรูไนเกี่ยวกับการเรียกคืนผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 3 รายการ เนื่องจากตรวจพบการปลอมปนของยาอันตราย อย. ตรวจสอบพบทั้ง 3 ผลิตภัณฑ์ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับ อย. และพบผลิตภัณฑ์ Li Da Daidaihua Weight Loss Capsule โฆษณาทางสื่อออนไลน์อ้างสรรพคุณลดน้ำหนัก ย้ำวัยใสพึงระวัง !! อย่าตกเป็นเหยื่อ ไม่ผอมแถมได้โรค เสี่ยงอันตรายถึงชีวิต
นายแพทย์พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยศูนย์เฝ้าระวังความปลอดภัยด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ (HPVC) ได้รับแจ้งจากกระทรวงสาธารณสุขบรูไนถึงการเรียกคืนผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 3 รายการ ได้แก่ 1. Li Da Daidaihua Weight Loss Capsule ตรวจพบอะเซตามีโนเฟน และไซบูทรามีน 2. Grow XL Capsule ตรวจพบซิลเดนาฟิล และ 3. Swiss Candy ตรวจพบทาดาลาฟิล ซึ่งเป็นยาอันตราย ทั้งนี้จากการสืบค้นข้อมูลรายงานในระบบแจ้งเตือนภัยพบว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 3 รายการดังกล่าว ไม่มีการขึ้นทะเบียนกับ อย. และพบผลิตภัณฑ์ Li Da Daidaihua Weight Loss Capsule โฆษณาขายผ่านสื่อออนไลน์ โดยอ้างสรรพคุณในการลดน้ำหนัก จึงขอย้ำเตือนไปยังผู้บริโภคให้พึงระวัง !! อย่าตกเป็นเหยื่อหลงเชื่อซื้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมารับประทาน เสี่ยงไม่ผอมแถมได้โรค เพราะยาลดความอ้วนส่วนใหญ่ออกฤทธิ์ลดความอยากอาหารและกระตุ้นประสาทส่วนกลาง ซึ่งในตอนแรกเมื่อรับประทานไปแล้วน้ำหนักจะลด แต่จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่โฆษณาอ้างลดความอ้วน อย. มักจะตรวจพบว่ามีการลักลอบใส่สารไซบูทรามีน ซึ่งเป็นอันตรายและมีผลข้างเคียงที่ร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ซึ่งไซบูทรามีนถือเป็นยาที่ยกเลิกทะเบียนตำรับไปแล้ว ตั้งแต่ ปี 2553 โดยไม่สามารถใส่ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหรือเป็นยาได้ นอกจากนี้ อย. ยังได้ยกระดับไซบูทรามีนขึ้นเป็นวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ประเภทที่ 1 ผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนผสมของไซบูทรามีนจะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 4 – 20 ปี และปรับตั้งแต่ 4 แสนบาทถึง 2 ล้านบาท จึงขอเตือนมายังผู้ผลิตและผู้จำหน่ายอย่าฝ่าฝืนกฎหมาย ส่วนกรณีของยาทาดาลาฟิลจัดเป็นยาควบคุมพิเศษกลุ่มเดียวกับซิลเดนาฟิล ออกฤทธิ์ ในการขยายหลอดเลือดมีข้อควรระวังการใช้ในผู้ป่วยโรคตับและไต ผู้ป่วยที่มีภาวะความดันโลหิตต่ำ โรคหัวใจล้มเหลว โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และผู้ป่วยที่มีภาวะเจ็บหน้าอกแบบไม่คงที่
รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวในตอนท้ายว่า ย้ำเตือนนักท่องเที่ยว นักช็อปออนไลน์ อย่าซื้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมารับประทานโดยเด็ดขาด เพราะมีสารที่เป็นอันตราย เสี่ยงสูญเงินฟรีเพราะไม่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าตามกฎหมาย รวมถึงผู้ประกอบการนำเข้าขอให้ตรวจสอบผลิตภัณฑ์สุขภาพก่อนนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศได้ที่เว็บไซต์ HPVC http://thaihpvc.fda.moph.go.th/thaihvc/Public/Webpage/main.jsp หัวข้อ สรุปข่าวความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์สุขภาพ