รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ห่วงใย นายจ้าง ลูกจ้าง ธุรกิจท่องเที่ยวบริการเชียงใหม่จากผลกระทบโควิด – 19 มอบหมายให้ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน ประชุมทางไกล
(Video Conference) ร่วมกับผู้ประกอบการในพื้นที่ รับฟังสภาพปัญหาความเดือดร้อน ประสานหน่วยงานในพื้นที่จัดจ้างงานพาร์ทไทม์ ฝึกอบรมช่าง อบรมภาษา เสริมทักษะลูกจ้างตามความต้องการของภาคเอกชนสร้างความเชื่อมั่นธุรกิจฟื้นตัวโดยเร็ว
วันที่ 27 มีนาคม 2563 ดร.ดวงฤทธิ์ เบญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมทางไกล (Video Conference) เพื่อหารือร่วมกับผู้ประกอบการจังหวัดเชียงใหม่ ประกอบด้วย ประธานหอการค้า ผู้ประกอบการโรงแรม นายกสมาคมร้านอาหาร นายกสมาคมการโรงแรม มัคคุเทศก์ การท่องเที่ยว สมาคมรถตู้ และผู้แทนฝ่ายทรัพยากรบุคคลที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น ณ ห้องประชุมแสงสิงแก้ว ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน โดยมี นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน และผู้บริหารระดับสูงเข้าร่วมในครั้งนี้ด้วย โดยจากการหารือร่วมกัน ผู้ประกอบการจังหวัดเชียงใหม่ที่ได้รับผลกระทบทำให้ภาคการท่องเที่ยวและโรมแรมซบเซาลงจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 โดยผู้ประกอบการส่วนใหญ่ได้ขอให้กระทรวงแรงงานเข้าไปช่วยเหลือในด้านการหาตำแหน่งงานว่างให้ลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบ การฝึกอาชีพ โดยเฉพาะการฝึกอบรมด้านช่างของผู้ประกอบการขนส่ง และการฝึกอบรมด้านภาษาจีน ภาษาเกาหลีและภาษารัสเซียให้แก่มัคคุเทศก์ นอกจากนี้ยังต้องการฝึกอบรมด้านประวัติศาสตร์ รวมทั้งอาชีพขับรถตู้ รถแท็กซี่ ควรให้มีการพัฒนาทักษะหรือปลูกจิตสำนึกให้มีการบริการที่ดีแก่นักท่องเที่ยว รวมถึงต้องการให้วิชาชีพมัคคุเทศก์มีระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 หรือมาตรา 39 อีกด้วย
ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงมาตรการของกระทรวงแรงงานในการเยียวยาช่วยเหลือตามที่ผู้ประกอบการจังหวัดเชียงใหม่ได้ขอความช่วยเหลือ โดยได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานเข้าไปช่วยเหลือตามภารกิจ อาทิ กรมการจัดหางานได้เตรียมตำแหน่งงานพาร์ทไทม์จังหวัดเชียงใหม่จำนวน 529 ตำแหน่ง จำนวน 13 บริษัท เพื่อให้ลูกจ้างได้ทำงานรายชั่วโมง และเป็นการลดค่าใช้จ่ายให้แก่นายจ้างสถานประกอบการ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 19 เชียงใหม่ และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดลำพูน จัดหลักสูตรฝึกอบรมไม่ว่าจะเป็น Up – skill หรือ Re – skill เช่น ฝึกทักษะด้านภาษา จิตบริการ เป็นต้น สำนักงานประกันสังคม กำลังแก้ไขกฎหมายเพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ที่ประกอบอาชีพอิสระ ได้มีสวัสดิการกรณีเจ็บป่วย กรณีทุพลภาพ หรือกรณีต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล กรณีเสียชีวิต กรณีชราภาพมีเงินก้อนให้ รวมทั้งการให้การสงเคราะห์บุตร เป็นต้น และกรมสวัสดิการและคุ้มคุ้มครองแรงงาน เข้าไปให้คำแนะนำสร้างความเข้าใจที่ดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างตามระบบแรงงานสัมพันธ์
แก่ผู้ประกอบการในพื้นที่อีกด้วย
ทั้งนี้ สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานในพื้นที่ หรือโทรสายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506