เริ่มแล้ว! ปฏิบัติการ ‘ชุมชน’ เป็นฐานต้านโควิด19 เล็งตำบลเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์

เริ่มแล้ว! เวทีระดมความเห็น ‘รวมพลังพลเมืองตื่นรู้ ช่วยชาติ สู้ภัยโควิด19’ ตั้งแต่ระดับจังหวัดถึงตำบล สร้างมาตรการสังคมรับมือผลกระทบ เน้นตำบลเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์หนุนเสริมการทำงานรัฐ     พร้อมสนับสนุนทุกรูปแบบ

สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด19 เข้าสู่จุดล่อแหลมที่ภาครัฐต้องเพิ่มมาตรการเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ เพื่อรับมือและยับยั้งการแพร่ระบาด แต่เท่านี้คงยังไม่พอหากขาดการสานพลังจากทุกภาคส่วนที่จะหนุนเสริมกันและกัน สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จึงได้จับมือกับ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. จัดเวทีระดมความเห็นแลกเปลี่ยนเรียนรู้บทบาทของแต่ละส่วนในพื้นที่อย่างเร่งด่วนกับหน่วยงานต่างๆ ทุกภาคส่วน รวมถึงภาคีเครือข่าย เพื่อหามาตรการในระดับพื้นที่ โดยมีการถ่ายทอดสดผ่าน  เฟซบุ๊ก สช. สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ วันนี้ (26 มี.ค.63)

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า การรับมือกับการระบาดนั้น มาตรการของรัฐอย่างเดียวอาจจะให้ผลในระดับหนึ่ง แต่จุดชี้ขาดสำคัญคือ พฤติกรรมการใช้ชีวิตและการมีส่วนร่วมในการกำหนดมาตรการของประชาชนในชุมชน ดังนั้น จึงมองเห็นร่วมกันว่าควรให้ ‘ตำบล’ เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ ให้ ‘หมู่บ้าน’ เป็นฐานปฏิบัติการ และให้ประชาชนทุกคนเป็นศูนย์กลางในการดูแล ทั้งในฐานะกลุ่มเสี่ยงเอาเชื้อไปแพร่กระจาย และกลุ่มเสี่ยงติดเชื้ออย่างผู้สูงอายุกับเด็กในชุมชน โดยจะต้องได้รับการสนับสนุนทั้งจากระดับชาติ จังหวัด อำเภอ

“ผลกระทบของเรื่องนี้จะตามมาอีกมหาศาล เช่น ผลกระทบด้านเศรษฐกิจ ผลกระทบทางสังคม ความตื่นตระหนก ตื่นกลัว ประชาชนที่ต้องกลับชนบท เพราะฉะนั้นหน่วยงานภาคียุทธศาสตร์ส่วนกลาง เช่น กระทรวงสาธารณสุข สสส. สปสช. หน่วยงานอื่นด้านสุขภาพ เครือข่ายหมออนามัย ต้องจับมือกับภาคีเครือข่ายด้านสังคม เช่น พอช. อปท. ไทยพีบีเอส และภาคประชาชนอื่นๆ บูรณาการเครือข่าย เครื่องมือ เพื่อหนุนช่วย ทำงานร่วมกับภาคีขับเคลื่อนประชาชนในพื้นที่ มีประชาชนทุกครอบครัวเป็นศูนย์กลาง ร่วมสร้างพลเมืองที่ตื่นรู้และกำหนดมาตรการของภาคประชาชน โดยใช้ตำบลเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ในการดำเนินการสู้กับโควิด19” นพ.ประทีปกล่าว

ขณะที่ นายปฏิภาณ จุมผา รองผู้อำนวยการ พอช. กล่าวว่า ในระยะที่ผ่านมา ภาคประชาชนทั้ง 76 จังหวัด มีการพูดคุยผ่านกลไกต่างๆ ของ พอช. เป็นกองบัญชาการของภาคประชาชนที่ลงมือทำงานทันทีโดยใช้พลังในพื้นที่ ไม่รอคำสั่งหรืองบประมาณ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าชุมชนพึ่งตัวเองได้และทำงานเคียงคู่กับรัฐ

“สิ่งที่ห่วงคือ คุณภาพชีวิตต่อจากนี้ จะเป็นอย่างไร สิ่งที่เราต้องทำคือ รวมพลังทุกภาคีในการเคลื่อนงานโดยใช้การสานพลังทางสังคม ใช้วิกฤตให้เป็นโอกาส สร้างมาตรการ ผ่านธรรมนูญชุมชน แผนพัฒนาคุณภาพชีวิตของตำบลชุมชนท้องถิ่น สร้างแผนการทำงานเชิงรุก สร้างมาตรการของชุมชน แผนสร้างรายได้ โดยภาคส่วนต่างๆ พร้อมสนับสนุน” นายปฏิภาณกล่าว

ด้าน นายสมเกียรติ พิทักษ์กมลพร ผู้อำนวยการสำนักงานขับเคลื่อนนโยบายระดับพื้นที่ สช. ได้เพิ่มเติมว่า ในระดับตำบลมีกลไก มีเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ โรงพยาบาลสุขภาพตำบล (รพ.สต.) อาสาสมัครสาธารณสุข  (อสม.) และประชาชนทั่วไป จะสร้างวงพูดคุยให้ทั้งสามภาคส่วนนี้หาแนวทางการจัดการ การกำหนดบทบาท และสร้างมาตรการทางสังคม เช่น การเฝ้าระวังในระดับชุมชน ตำบล ครอบครัว บุคคล การรับมือกับปัญหาทางเศรษฐกิจ การดูแลกลุ่มเปราะบางต่างๆ ซึ่งทาง สช. และภาคีเครือข่ายได้เตรียมสนับสนุนการทำงานของพี่น้องระดับตำบลไว้แล้ว โดยเฉพาะข้อมูลความรู้ การประสานงาน

อย่างไรก็ตาม ระดับตำบลไม่สามารถรับมือตามลำพังได้ จึงจำเป็นต้องมีกลไกระดับจังหวัดและอำเภอ มาหนุนเสริม โดยจะมีสมัชชาสุขภาพจังหวัดเป็นแกนประสานเพื่อจัดวงหารือว่าจะสร้างมาตรการหนุนเสริมและส่งต่อข้อมูลสนับสนุนพื้นที่อย่างไร

ขณะที่ นายธนชัย อาจหาญ หัวหน้าสำนักสนับสนุนขบวนองค์กรชุมชนและประชาสังคม กล่าวว่า หลังจากจัดวงพูดคุยและสร้างมาตรการทางสังคมได้แล้วก็จะนำไปสู่การปฏิบัติ เก็บข้อมูลต่างๆ เช่น ผู้ติดเชื้อ ผู้ที่ต้องเฝ้าระวัง เป็นต้น นำมาวิเคราะห์ร่วมกันว่าแต่ละกลุ่มอยู่ที่ไหน จะออกแบบการช่วยเหลืออย่างไร บทบาทของแต่ละคนเป็นอย่างไร พอช. โดยผ่านสภาองค์กรชุมชนจะทำศูนย์พักพิงดูแลผู้ป่วย แผนฟื้นฟูระยะยาว รวมถึงการจัดทำแผนปฏิบัติการร่วมกับหน่วยงานรัฐ ตั้งแต่ระดับจังหวัดถึงตำบล และมีการสรุปผลกทุกเดือนเพื่อรายงานให้ระดับจังหวัดรับทราบ

ทั้งนี้ ในขณะนี้ สช. ได้จัดแนวทางการจัดกระบวนการปรึกษาหารือ 3 ระดับ ดังนี้

1) แนวทางการจัดวงปรึกษาหารือ รวมพลังพลเมืองตื่นรู้ ช่วยชาติ สู้ภัยโควิด19 ระดับจังหวัด สำหรับสมัชชาสุขภาพจังหวัดใช้ในการดำเนินการ

2) แนวทางการจัดวงปรึกษาหารือ รวมพลังพลเมืองตื่นรู้ ช่วยชาติ สู้ภัยโควิด19 ระดับอำเภอ สำหรับคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ/สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ ใช้ในการดำเนินการ

3) แนวทางการจัดวงปรึกษาหารือ รวมพลังพลเมืองตื่นรู้ ช่วยชาติ สู้ภัยโควิด19 ระดับตำบล สำหรับท้องถิ่น/ท้องที่/รพ.สต./สภาองค์กรชุมชน ใช้ในการดำเนินการ

นอกจากนี้ ยังมีการเชื่อมโยงการทำงานร่วมกันของแต่ละระดับ เพื่อให้เกิดการส่งต่อข้อมูล ความรู้    การสนับสนุนการทำงานระหว่างกัน รวมถึงการติดตามผลการดำเนินงานร่วมกัน เช่น ระดับอำเภอ              มีคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ทำหน้าที่ในการกระตุ้น สนับสนุน และติดตามการจัดวงหารือระดับตำบล และเมื่อมีการสรุปผลจากแต่ละตำบลเป็นภาพรวมอำเภอแล้วจึงส่งต่อข้อมูลไปสู่ระดับจังหวัด ซึ่งอาจมีทั้งข้อเสนอนโยบาย การขอรับการสนับสนุนจากภาคส่วนต่างๆ ไปใช้ในการทำกิจกรรมในระดับตำบล โดยการดำเนินการทั้งหมดจะทำให้เกิดการสานพลังการทำงานแนวราบหรือพลังทางสังคมเข้าไปร่วมหนุนเสริมการทำงานแนวดิ่งหรือพลังกลไกรัฐ เพื่อเอาชนะไวรัสโควิด19