นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึง สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำทั้งประเทศ ว่า สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศจำนวน 447 แห่ง มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 38,978 ล้าน ลบ.ม. (51% ของความจุอ่างฯ) ปริมาณน้ำใช้การได้ 15,257 ล้าน ลบ.ม. (29% ของความจุน้ำใช้การ) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำใช้การน้อยกว่าหรือเท่ากับ 30% ของความจุอ่าง จำนวน 20 แห่ง คือ ภูมิพล สิริกิติ์ แม่งัดสมบูรณ์ชล แม่กวงอุดมธารา แม่มอก ห้วยหลวง จุฬาภรณ์ อุบลรัตน์ ลำพระเพลิง มูลบน ลำแชะ ลำนางรอง ป่าสักชลสิทธิ์ ทับเสลา กระเสียว ขุนด่านปราการชล คลองสียัด บางพระ หนองปลาไหล และประแสร์
สถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยฯ และป่าสักฯ) ปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 9,429 ล้าน ลบ.ม. (38% ของความจุอ่างฯ) เป็นปริมาณน้ำใช้การได้ 2,733 ล้าน ลบ.ม. (15% ของความจุน้ำใช้การ) ส่วนผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 2562/63 แบ่งเป็นทั้งประเทศ แผนการจัดสรรน้ำ 17,699 ล้าน ลบ.ม. จัดสรรน้ำไปแล้ว 13,508 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 76 และเจ้าพระยา แผนการจัดสรรน้ำ 4,500 ล้าน ลบ.ม. จัดสรรน้ำไปแล้ว 3,5641 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 81
แผน-ผลการเพาะปลูกข้าวนาปรังปี 2562/63 ในเขตชลประทาน (ข้อมูล ณ วันที่ 18 มี.ค.63) ในส่วนของทั้งประเทศ แผนเพาะปลูกข้าวนาปรัง 2.31 ล้านไร่ เพาะปลูกแล้ว 4.17 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 180.56 ของแผนฯ เก็บเกี่ยวแล้ว 1.60 ล้านไร่ และลุ่มน้ำเจ้าพระยา แผนเพาะปลูกข้าวนาปรัง – ล้านไร่ (รณรงค์งดทำนาต่อเนื่องฤดูแล้ง ปี 2562/63) เพาะปลูกแล้ว 1.99 ล้านไร่ เก็บเกี่ยวแล้ว 1.21 ล้านไร่
คุณภาพน้ำ วันที่ 25 มี.ค.63 เวลา 05.00 น. : แม่น้ำเจ้าพระยา สถานีประปาสำแล จ.ปทุมธานี (ปกติ) ท่าน้ำนนทบุรี จ.นนทบุรี (ปกติ) ทั้งนี้ กรมชลประทานได้บริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาความเค็ม โดยทำการผันน้ำบางส่วนจากแม่น้ำแม่กลองมายังแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำบางปะกง สถานีปราจีนบุรี (ปกติ) แม่น้ำท่าจีน สถานีปากคลองจินดา (ปกติ) และแม่น้ำแม่กลอง สถานีปากคลองดำเนินสะดวก (ปกติ)
นอกจากนี้ จังหวัดที่มีการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) ตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม 2562 จํานวน 23 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย พะเยา น่าน อุตรดิตถ์ สุโขทัย เพชรบูรณ์ หนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร กาฬสินธุ์ มหาสารคาม นครราชสีมา บุรีรัมย์ ชัยภูมิ ศรีสะเกษ นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ฉะเชิงเทรา และปราจีนบุรี รวมทั้งสิ้น 139 อำเภอ 714 ตำบล 3 เทศบาล 6,065 หมู่บ้าน/ชุมชน (ข้อมูลจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ณ วันที่ 24 มี.ค.63)
สำหรับกิจกรรมและการให้ความช่วยเหลือของศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจแก้ไขและบรรเทาวิกฤตภัยแล้งฯ ประกอบด้วย
- โครงการชลประทานร้อยเอ็ด สำนักงานชลประทานที่ 6 รับสมัครแรงงานเกษตรกรเพื่อจ้างทำงานตามมาตรการช่วยเหลือภัยแล้งของกรมชลประทาน โดยรับสมัครแรงงานเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกร/ประชาชนที่มีบัตรประชารัฐหรือเกษตรกรในพื้นที่ ตำบลวังหลวง อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด เข้าทำงานในโครงการก่อสร้างอาคารป้องกันการกัดเซาะลำน้ำยัง
- โครงการชลประทานนครราชสีมา สำนักงานชลประทานที่ 8 ลงพื้นที่นำรถบรรทุกน้ำออกแจกจ่ายน้ำสำหรับการอุปโภค-บริโภค เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ที่ประสบปัญหาภัยแล้ง พื้นที่ตำบลด่านใน อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา
- โครงการชลประทานระยอง สำนักงานชลประทานที่ 9 นำเครื่องสูบน้ำขนาด 8 นิ้ว จำนวน 1 เครื่อง ไปติดตั้งที่หมู่ 5 ตำบลสองสลึง อำเภอแกลง จังหวัดระยอง เพื่อสูบน้ำจากคลองสองสลึงเข้าสู่คลองย่อย ให้ความช่วยเหลือแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำสำหรับการอุปโภค-บริโภค และพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร ในเขตพื้นที่ของโครงการชลประทานระยอง
- โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชลหารพิจิตร สำนักงานชลประทานที่ 11 ลงพื้นที่ติดตามการกำจัดวัชพืชโดยใช้เรือกำจัดวัชพืชจากสำนักเครื่องจักรกล ณ คลองลำปลาทิว บริเวณ กม.13+000 เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนในการส่งน้ำเพื่อการเกษตรให้กับพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำ และแก้ไขเรื่องการสัญจรทางน้ำให้กับประชาชน พร้อมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ
- โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชัณสูตร สำนักงานชลประทานที่ 12 ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินการบริหารจัดการน้ำช่วงฤดูแล้งปี 2562/63 เพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร พื้นที่ไม้ผล-ไม้ยืนต้น บริเวณคลอง 3 ขวา – 1 ขวา ในพื้นที่ตำบลวังน้ำเย็น อำเภอแสวงหา ตำบลรำมะสัก อำเภอโพธิ์ทอง ตำบลมงคลธรรมนิมิตร ตำบลสามโก้ อำเภอสามโก้ จังหวัดอ่างทอง
- โครงการชลประทานนครศรีธรรมราช สำนักงานชลประทานที่ 15 ลงพื้นที่สนับสนุนเครื่องสูบน้ำพร้อมน้ำมันเชื้อเพลิงขนาด 12 นิ้ว จำนวน 2 เครื่อง และขนาด 8 นิ้ว จำนวน 1 เครื่อง รวมทั้งหมด 3 เครื่อง เพื่อช่วยเหลือสถานการณ์ภัยแล้งแก่ราษฎรในเขตพื้นที่ปากคลองค้อ ตำบลเกาะทวด อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช
……………………………………………..