กรมชลประทาน วางโครงข่ายน้ำเชื่อมโยงระหว่าง จันทบุรี ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และสมุทรปราการ สนับสนุนพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) และแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ
ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำภาคตะวันออกว่า ปัจจุบัน(19 มี.ค.63) อ่างเก็บน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออก จำนวน 62 แห่ง มีปริมาณน้ำรวมกัน 742 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 29 ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ 587 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 24 ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน จัดสรรน้ำฤดูแล้ง ปี 2562/63 ตามแผนฯไปแล้ว รวมทั้งสิ้น 940 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 76 ของแผนที่กำหนดไว้ คงเหลือน้ำที่จะต้องจัดสรรอีก 305 ล้าน ลบ.ม. และ สำรองน้ำไว้ต้นฤดูฝน (มิถุนายน-กรกฎาคม 63) อีก 292 ล้าน ลบ.ม.
สำหรับการบริหารจัดการน้ำเพื่อสนับสนุนพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) และแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ ผ่านโครงข่ายน้ำเชื่อมโยงระหว่าง จันทบุรี ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และสมุทรปราการ ซึ่งเป็นการบริหารจัดการน้ำแบบอ่างฯพวง และการสูบผันน้ำข้ามลุ่มน้ำ เพื่อให้มีปริมาณน้ำเพียงพอกับความต้องการด้านอุปโภค-บริโภค ด้านการเกษตร และด้านอุตสาหกรรม ปัจจุบันมีการสูบผันน้ำช่วยเหลือพื้นที่จังหวัดระยอง จากคลองวังโตนด มายังอ่างเก็บน้ำประแสร์ วันละ ประมาณ 430,000 ลบ.ม. ปริมาณการผันน้ำสะสม 7.09 ล้าน ลบ.ม. จากอ่างเก็บน้ำประแสร์ มายังอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล วันละ ประมาณ 600,000 ลบ.ม. ปริมาณการผันน้ำสะสม 34.54 ล้าน ลบ.ม. และจากอ่างฯคลองใหญ่มายังอ่างฯหนองปลาไหล วันละประมาณ 130,000 ลบ.ม. ปริมาณการผันน้ำสะสม 1.65 ล้านลบ.ม.
ด้านการช่วยเหลือพื้นที่จังหวัดชลบุรี กรมชลประทาน ได้ดำเนินการสูบผันน้ำเติมอ่างฯบางพระ ปริมาณน้ำตามแผน 3 ล้าน ลบ.ม. พร้อมกับขุดลอกคลองหลวง จากท้ายอ่างฯคลองหลวงถึงคลองพานทอง ระยะทาง 60 กิโลเมตร เพื่อระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองหลวง มาที่สถานีสูบพานทอง โดยได้รับความร่วมมือจากมณฑลทหารบกที่ 14 ในการควบคุมการลำเลียงน้ำมาถึงจุดสูบน้ำ นอกจากนี้ ยังได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท อีสวอเตอร์ จำกัด (มหาชน) และการประปาส่วนภูมิภาค สาขาพัทยา จัดหาน้ำจากบ่อดินเอกชน ในพื้นที่ จ. ชลบุรี และฉะเชิงเทรา เสริมเข้ามาในระบบอีกประมาณ 18 ล้าน ลบ.ม. เพื่อให้มีน้ำเพียงพอไปจนถึง วันที่ 30 มิถุนายน 2563
ทั้งนี้ ยังมีในส่วนของการสูบผันน้ำจากแม่น้ำบางปะกงไปลงอ่างเก็บน้ำบางพระ เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างฯ บางพระ ซึ่งจะสูบต่อเมื่อค่าความเค็ม ณ สถานีสูบต้องไม่เกิน 0.5 กรัม/ลิตร ปริมาณน้ำตามแผนวันละ 170,000 ลบ.ม. ปัจจุบันได้ดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติม คาดว่าจะแล้วเสร็จในวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 อีกด้านหนึ่งจะทำการระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองหลวงรัชชโลทรมายังจุดสูบสถานีสูบน้ำพานทอง แล้วสูบเชื่อมเข้าเส้นท่อสูบผันน้ำเชื่อมโยงคลองพระองค์ไชยานุชิตมายังอ่างเก็บน้ำบางพระ 3 ล้าน ลบ.ม.
นอกจากนี้ ยังได้มีการลงนามในบันทึกข้อตกลง(MOU) ระหว่างกรมชลประทานกับคณะกรรมการลุ่มน้ำคลองวังโตนด เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 63 ที่ผ่านมา เพื่อแบ่งปันน้ำจากลุ่มน้ำคลองวังโตนดไปยังพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(EEC) และการจัดทำ CSR ในพื้นที่ เพื่อสนับสนุน EEC สร้างความมั่นคงทางด้านน้ำให้แก่พื้นที่สำคัญของประเทศ โดยมีแผนการแบ่งปันน้ำจากลุ่มน้ำวังโตนด-ประแสร์ ปี 2563 (เฉพาะกิจ) เป็นการสูบผันน้ำด้วยระบบท่อส่งน้ำ ความยาว 45.69 กิโลเมตร ด้วยการใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำประแกด ที่ขนาดนั้นมีปริมาณน้ำเก็บกักประมาณ 46 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งจะผันน้ำในช่วงวันที่ 1-25 มีนาคม 2563 ในอัตรา 5 ลูกบาศก์เมตร/วินาที จากอ่างเก็บน้ำประแกดไปอ่างเก็บน้ำประแสร์ ด้วยการระบายน้ำลงสู่คลองวังโตนด จากนั้นจะใช้สถานีสูบน้ำบ้านวังประดู่ สูบน้ำส่งไปให้วันละประมาณ 432,000 ลูกบาศก์เมตร โดยจะไม่กระทบต่อการใช้น้ำในพื้นที่ท้ายอ่างเก็บน้ำประแกด และลุ่มน้ำคลองวังโตนดแต่อย่างใด
กรมชลประทาน ยังได้วางมาตรการเพิ่มเติม เพื่อรองรับวิกฤตขาดแคลนน้ำในพื้นที่จังหวัดชลบุรี และระยองปี 2562-2563 ด้วยการประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือทุกภาคส่วนในพื้นที่ จ.ระยอง และชลบุรี ลดการใช้น้ำลง 10 % ตั้งแต่เดือน ก.พ. – มิ.ย. 63 พร้อมแจ้งไปยังกระทรวงพลังงาน เพื่อขอความร่วมมือจากโรงไฟฟ้าเอกชนในจังหวัดระยอง ชลบุรี หยุดเดินระบบอยู่ในโหมด Stand By หรือเดินระบบเท่าที่จำเป็น เพื่อลดการใช้น้ำเพื่อหล่อเย็น ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควบคุมการสูบน้ำไม่ให้เกินจำนวนที่ในแผนที่กำหนดรายวัน และตรวจสอบมิเตอร์วัดน้ำ ให้ใช้งานได้ตลอดเวลา พร้อมทั้งให้การประปาส่วนภูมิภาคสาขาพัทยา เตรียมแผนติดตั้งระบบสูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยตู้ 1 อ่างเก็บน้ำห้วยตู้ 2 อ่างเก็บน้ำมาบฟักทอง 1 และอ่างเก็บน้ำ-มาบฟักทอง 2 รวมปริมาณน้ำ 3 ล้าน ลบ.ม. ทั้งนี้ หากดำเนินการตามมาตรการที่วางไว้ คาดว่าจะมีปริมาณน้ำเพียงพอไปจนถึงเดือนมิถุนายน และมีน้ำสำรองในกรณีฝนล่าช้าอย่างแน่นอน
********************************************************
กรมชลประทาน
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
20 มีนาคม 2563