รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ชี้ ‘พลังชุมชน’ เป็นกำลังสำคัญในการควบคุมและป้องการการแพร่กระจายโควิด 19 เตรียมรวมพลังองค์กรสุขภาพและสังคมหนุนบทบาทชุมชนสู้โควิด 19
นางอรพรรณ ศรีสุขวัฒนา รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ผ่านสถานีวิทยุ อสมท. คลื่นความคิด FM 96.5 ช่วง ‘สานพลัง สร้างสุขภาวะ’ เมื่อวันที่ 18 มีนาคม ที่ผ่านมา ถึงบทบาทของชุมชนในการช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ว่า ขณะนี้การระบาดดูเหมือนจะกระจายตัวไปยังจังหวัดต่างๆ อย่างรวดเร็วซึ่งเมื่อถึงจุดนี้ ชุมชนจะมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการเป็นเกราะป้องกันการแพร่กระจายของไวรัส เพราะหากจะรอบุคลากรสุขภาพจากจังหวัดหรือส่วนกลางลงไปตรวจหาบุคคลเสี่ยงคงเป็นไปได้ยากและไม่ทันการณ์
“ใครเสี่ยง ใครเดินทางกลับมาจากต่างประเทศ นอกจากครอบครัวแล้ว ก็เป็นชุมชนที่จะทราบข้อมูลก่อน ชุมชนจึงต้องยึดแนวปฏิบัติที่เหมาะกับชุมชนนั้นๆ ไม่ต้องรอให้ใครบอก ยกตัวอย่าง อำเภอจัตุรัส จังหวัดชัยภูมิ มีแรงงานกลับจากประเทศเสี่ยง 20 กว่าคน ชุมชนเขาช่วยกันสนับสนุนการกักกันตัวเองของคนเหล่านั้น ท้ายที่สุด ก็ก้าวผ่านไปได้ คนที่กักตัวครบกำหนดทยอยออกมาใช้ชีวิตปกติ ถ้าชุมชนช่วยกันก็จะทำอะไรได้มาก” รองเลขาธิการฯ กล่าว
อย่างไรก็ดี ด้วยลักษณะของชุมชนที่มีความแตกต่างกัน นางอรพรรณ กล่าวว่า ชุมชนเมืองจะมีความแออัดสูง ต่างคนต่างอยู่ ไม่ค่อยรู้จักกัน อาวุธสำคัญของชุมชนลักษณะนี้คือ สังคมออนไลน์ที่จะส่งต่อข้อมูลข่าวสาร แต่ในทางกลับกัน หากเผยแพร่ข่าวปลอมก็ส่งผลลบได้เช่นกัน จึงจำเป็นต้อง ‘เช็คให้ชัวร์ก่อนแชร์’ นอกจากนี้ ยังต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติ ไม่ต่อว่าผู้ที่มีความเสี่ยงหรือผู้ป่วย เพราะพวกเขาย่อมรู้สึกเสียใจอยู่แล้ว และการต่อว่าจะยิ่งทำให้พวกเขาไม่กล้าเปิดเผยข้อมูล หากมีการปกปิดข้อมูลสุดท้ายจะควบคุมโรคไม่ได้ ซึ่งย่อมกลับมาส่งผลร้ายต่อชุมชนเอง
“ตัวอย่างของชุมชนแนวตั้งอย่างคอนโดมิเนียมแห่งหนึ่ง มีคนกลับมาจากต่างประเทศ เขาใช้หลักไม่ปิดบังโดยแจ้งกับนิติบุคคลเลยและทำการกักตัวเอง นิติบุคคลก็เตรียมตัว เตรียมแอลกอฮอล์ เตรียมสิ่งต่างๆเพื่อจัดการความปลอดภัยของสมาชิก ตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุข ไม่ขับไล่ เพราะการขับไล่ทำให้เขาไปแพร่เชื้อที่อื่น คนในคอนโดก็ช่วยอำนวยความสะดวก ซื้ออาหาร ซื้อของใช้จำเป็นให้บ้าง ครบ 14 วัน เขาก็ได้ออกมา แล้วเขาก็กลับมาบริจาคเจลล้างมือและหน้ากากอนามัยให้นิติบุคคลด้วย นี่เป็นการเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส เปลี่ยนความกลัวมาเป็นการช่วยกัน” รองเลขาธิการฯ กล่าว
สำหรับชุมชนชนบทนั้น รองเลขาธิการฯ กล่าวว่า เมื่อรัฐบาลประกาศให้โควิด 19 เป็นโรคติดต่ออันตรายตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ก็จะมีคณะกรรมการโรคติดต่อระดับจังหวัด รวมถึงยังมีเจ้าพนักงานตามกฎหมายนี้ที่เป็นกลุ่มคนที่อยู่ใกล้พื้นที่ชุมชน ทั้งสาธารณสุขอำเภอ ผู้อำนวยการ รพ.สต. ผู้อำนวยการ รพ.ชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้านที่ทำงานร่วมกับผู้นำท้องถิ่นอยู่แล้ว ทีมชุมชนนี้จึงมีความชอบธรรมทางกฎหมายแต่ทำงานเองคนเดียวไม่ได้ ต้องอาศัยประชาชนที่เป็นจิตอาสาเข้ามาร่วมเป็นทีมด้วย
“สังคมชนบท ควรใช้ความได้เปรียบที่มีความรู้จักมักคุ้นกัน ให้คนในชุมชนเป็นหูเป็นตา เฝ้าระวังซึ่งกันและกัน แต่ต้องไม่กล่าวร้ายกัน ไม่ตระหนกจนเกินไป พวกเราต้องให้ข้อมูลข่าวสารแบบเมตตาและเอื้ออาทรต่อกัน ขณะเดียวกันคนที่แข็งแรง มีสุขภาพดีก็ให้เข้าร่วมทำประโยชน์ ทำให้ชุมชนฮึกเหิมมีพลัง เหมือนตอนกรณีหมูป่า มันจะเกิดพลังสังคมที่คิดว่าตัวเราสามารถช่วยคนอื่นได้ วิกฤตคราวนี้เช่นกัน เมื่อเริ่มเกิดกระแสร่วมกันทำหน้ากากผ้า ทำเจลแอลกอฮอลล์เองในชุมชน พลังบวกของชุมชนก็ริ่มกลับมาอีกครั้ง”
“มีอีกตัวอย่างหนึ่งคือ เทศบาลตำบลน้ำคอก จังหวัดระยอง พื้นที่นี้เคยทำธรรมนูญสุขภาพ เขาใช้ความสัมพันธ์ที่มีต่อกันต่อยอด รวมพลังจิตอาสาผลิตหน้ากากอนามัย 6 พันชุดแจก แกนชุมชนไปเข้าอบรมความรู้เกี่ยวกับการป้องกันโรคโควิด19 แล้วมาร่วมทำงานเป็นทีมกับเจ้าหน้าที่ รพ.สต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้านออกไปรณรงค์ให้ความรู้กับชุมชนเองเลย จะเห็นว่าชุมชนมีบทบาทอย่างมากในการช่วยยับยั้งการแพร่กระจายไวรัสได้” รองเลขาธิการฯ กล่าวและย้ำว่า ชุมชนทั้งชนบทและเมืองยังสามารถเครื่องมือสื่อสารที่มีอยู่แล้ว เช่น บอร์ดประจำหมู่บ้าน ป้ายประชาสัมพันธ์ต่างๆ รวมถึงเสียงตามสายในการสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้องได้ด้วยและหากมีข้อมูลที่ไม่แน่ใจให้สอบถามไปยังกรมควบคุมโรคติดต่อ ที่เบอร์ 1422 หรือแอดไลน์ถามตรงได้
“อสม. คือด่านแรกของการทำงานชุมชน แต่เราจะปล่อย อสม.ไปเยี่ยมบ้านคนเดียวไม่ได้ ต้องร่วมกับ รพ.สต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้านไปช่วยหนุนการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ที่สำคัญ ข้อมูลที่ให้ประชาชนก็ต้องเท่าทันสถานการณ์ด้วย เช่น เมื่อก่อนเราพูดกันเรื่องช้อนกลาง ตอนนี้รู้แล้วว่าไม่ปลอดภัย ก็ต้องเปลี่ยนเป็นช้อนกลางของแต่ละคนแยกกัน เราจะเห็นการขยับพัฒนาของความรู้ไปตามสถานการณ์ที่เข้มข้นขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น เราควรรู้ด้วยว่าต้องให้ความสำคัญกับใครเป็นพิเศษ กลุ่มผู้สูงอายุ คนติดเตียง คนยากไร้ คนเหล่านี้ชุมชนต้องช่วยกันดูแลอย่างใกล้ชิดด้วย” นางอรพรรณกล่าว
รองเลขาธิการฯ กล่าวทิ้งท้ายว่า การทำให้ชุมชนเกิดพลังในการทำงานจะเป็นข้อต่อสำคัญที่จะช่วยแบ่งเบาภาระของบุคลากรสุขภาพที่กำลังอ่อนล้า เนื่องจากโควิด 19 เป็นโรคติดต่อที่สามารถป้องกันได้ เราสามารถใช้บทบาทของชุมชนในการวางกติกาให้ครบวงจร กำหนดจุดเสี่ยงแล้วบริหารจัดการอย่างเหมาะสม ขณะนี้ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กำลังเร่งหารือร่วมกับองค์กรภาคีสุขภาพและสังคม ทั้ง สปสช. สสส. สวรส. สรพ. สพฉ. พอช. องค์กรสื่อฯลฯ เพื่อบูรณาการภารกิจ เครื่องมือ ทรัพยากร สนับสนุนบทบาทของภาคีเครือข่ายในพื้นที่ไปหนุนช่วยหน่วยงานภาครัฐและชุมชน ให้ร่วมกันขับเคลื่อนยกระดับการรับรู้และการมีส่วนร่วมของประชาชน เปลี่ยนจากประชาชนที่ตื่นตระหนกเป็นพลเมืองที่ตื่นรู้และตระหนักในการดูแลตนเอง ครอบครัว สังคม เพราะการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด ที่จะช่วยประเทศไทยได้ชัยชนะในสงครามโควิดครั้งนี้
……………………………………..