กรมชลประทานเดินหน้า“โครงการบางระกำโมเดล” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 วางแผนจัดสรรน้ำ 310 ล้าน ลบ.ม. จากเขื่อนสิริกิติ์และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ให้เกษตรกรทำนาปีก่อน 265,000 ไร่ ก่อนจะใช้พื้นที่กักเก็บน้ำหลากในช่วงฤดูฝนได้ถึง 400 ล้านลบ.ม. หวังเป็นน้ำต้นทุนสำหรับการอุปโภคบริโภค และการเกษตร ในช่วงฤดูแล้งหน้า
ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ในฤดูแล้งในปี 2563 นี้ กรมชลประทาน ได้ร่วมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและกลุ่มผู้ใช้น้ำในพื้นที่ ดำเนินโครงการบริหารจัดการน้ำแบบประชาชนมีส่วนร่วม พื้นที่ทุ่งหน่วงน้ำ-บางระกำ หรือ “โครงการบางระกำโมเดล” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 แต่จะลดพื้นที่ดำเนินการลงจาก 382,000 ไร่ ในปีที่แล้ว เหลือ 265,000 ไร่ เท่ากับปี 2560 ซึ่งเป็นปีแรกในการดำเนินโครงการบางระกำโมเดล ทั้งนี้ เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนปีนี้มีจำนวนจำกัด จำเป็นต้องจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับกิจกรรมการใช้น้ำที่ได้วางแผนไว้ โดยจะจัดสรรน้ำให้ประมาณ 310 ล้าน ลบ.ม.เพื่อให้เกษตรกรในพื้นที่โครงการใช้น้ำทำนาปี ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน- 31 กรกฎาคม 2563
ทั้งนี้ เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า โครงการบางระกำโมเดล เป็นโครงการปรับเปลี่ยนปฏิทินใหม่ในการทำนาปีของเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก และสุโขทัยบางส่วนให้เร็วขึ้นกว่าปกติ เพื่อให้เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ก่อนถึงฤดูน้ำหลาก ช่วยลดความเสี่ยงที่ผลผลิตข้าวจะเกิดความเสียหายจากน้ำท่วม ซึ่งนอกจากจะทำให้เกษตรกรมีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแล้ว หลังจากการเก็บเกี่ยวผลผลิต ยังสามารถใช้พื้นที่ดังกล่าวเป็นแก้มลิงธรรมชาติ รองรับน้ำในฤดูน้ำหลาก ช่วยลดผลกระทบจากอุทกภัยที่จะเกิดขึ้นในเขตชุมชนและสถานที่ราชการของจังหวัดสุโขทัย ตลอดจนเป็นการหน่วงน้ำรอการระบายไม่ให้เกิดผลกระทบกับลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างอีกด้วย
นอกจากนี้ โครงการบางระกำโมเดล ยังจะช่วยส่งเสริมให้เกษตรกรมีรายได้เสริมจาการทำอาชีพประมง ซึ่งเป็นวิถีชีวิตของเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มต่ำ และการปล่อยน้ำให้ท่วมนาในช่วงเวลาดังกล่าว จะทำให้พื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมมีอาหารปลา ทีี่สมบูรณ์เพราะเมล็ดข้าวที่ร่วงหล่น หรือเกิดขึ้นมาใหม่จะเป็นอาหารของปลาอย่างดี ปลาจะชุกชุมมากเป็นพิเศษ สร้างรายได้เสริมจากอาชีพประมงให้กับเกษตรกร รวมทั้งน้ำที่เก็บกักไว้ยังสามารถนำมาบริหารจัดการใช้เป็นน้ำต้นทุน ในการทำนาปรังและการอุปโภคบริโภค ทั้งในเขตโครงการและลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างได้อีกประมาณ 400 ล้านลบ.ม. ถือได้ว่าเป็นการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด
“โครงการบางระกำโมเดล เกิดขึ้นเนื่องจากพื้นที่ลุ่มน้ำยม เป็นเพียงลุ่มน้ำเดียวของลุ่มน้ำสาขาลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่ยังไม่มีเขื่อนขนาดใหญ่ในการเก็บกักน้ำ ทำให้ในช่วงฤดูน้ำหลากจะเกิดปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำของลุ่มน้ำยม ในเขตจังหวัดพิษณุโลกและสุโขทัยเป็นประจำ ทั้งยังส่งผลต่อเนื่องไปถึงพื้นที่ลุ่มต่ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้รับผลกระทบตามไปด้วย ดังนั้น ระหว่างที่รอโครงการชลประทานขนาดใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รัฐบาลจึงได้จัดทำโครงการบางระกำโมเดลขึ้นตั้งแต่ปี 2560 เพื่อบรรเทาและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น” อธิบดีกรมชลประทานกล่าวในตอนท้าย
ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) กรมชลประทาน
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์