สำนักงานประกันสังคมจังหวัดนครสวรรค์ เปิดโครงการจัดทำแฟ้มนายจ้างอิเล็กทรอนิกส์ มุ่งปฏิรูประบบกระดาษเข้าแฟ้ม เป็นการจัดเก็บข้อมูลรูปแบบแฟ้มอิเล็กทรอนิกส์ ช่วยในการสืบคันข้อมูลได้ง่าย มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้การบริการต่อนายจ้าง ลูกจ้างผู้ประกันตน และประชาชน เป็นไปอย่างสะดวกรวดเร็ว
วันที่ 12 มีนาคม 2563 เวลา 10.00 น. นายนิยม สองแก้ว ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานพิธีเปิดโครงการจัดทำแฟ้มนายจ้างอิเล็กทรอนิกส์ ณ ห้องประชุมขั้น 2 สำนักประกันสังคมจังหวัดนครสวรรค์ โดยมี นายปรีชา เดชพันธุ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ ประธานหอการค้าจังหวัดนครสวรรค์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครสวรรค์ หัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงแรงงาน ร่วมเปิดโครงการฯ โดยมี นางสาววัฒนา เกิดเพ็ชร์ ประกันสังคมจังหวัดนครสวรรค์ กล่าวรายงานการเปิดโครงการฯ โดยผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า การดำเนินโครงการการจัดทำแฟ้มนายจ้างอิเล็กทรอนิกส์ โดยปรับเปลี่ยนการจัดเก็บเอกสารการขึ้นทะเบียนนายจ้างจากรูปแบบกระดาษเข้าแฟ้ม เป็นรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้รับบริการ ต้องขอขอบคุณสำนักงานประกันสังคมที่ให้ความสำคัญในการยกระดับการให้บริการนายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ประกันตน และประชาชน เพื่อให้เข้าถึงการบริการด้วยความสะดวก รวดเร็ว โดยในวันนี้สำนักงานประกันสังคมมีการเปิดโครงการ การจัดทำแฟ้มนายจ้างอิเล็กทรอนิกส์พร้อมกันทั่วประเทศ ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานของราชการให้ขับเคลื่อนไปสู่รัฐบาลดิจิทัลได้ต่อไป
นางสาววัฒนา เกิดเพ็ชร์ ประกันสังคมจังหวัดนครสวรรค์ กล่าวว่า หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายนโยบายเร่งด่วนในปี พ.ศ. 2563 ให้เร่งรัดปฏิรูปกำลังแรงงาน (workforce Transformation) และนโยบายสำคัญในการยกระดับการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ไปสู่รัฐบาลดิจิทัล เพื่อประชาชนได้เข้าถึงการบริการด้วยความสะดวก รวดเร็ว โปร่งใส หลากหลายช่องทาง และเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล สำนักงานประกันสังคม ได้นำมากำหนดแนวทางพัฒนาการให้บริการนายจ้าง ลูกจ้างผู้ประกันตน โดยดำเนินโครงการการจัดทำแฟ้มนายจ้างอิเล็กทรอนิกส์ เป็นโครงการหนึ่งที่มุ่งหวังจะปฏิรูประบบและวิธีการปฏิบัติงาน จากเดิมที่มีการจัดเก็บเอกสารหลักฐานในรูปแบบกระดาษเข้าแฟ้ม ซึ่งปัจจุบันข้อมูลแฟ้มนายจ้างทั่วประเทศ มีจำนวน 926,183 แฟ้ม โดยในส่วนของสำนักงานประกันสังคมจังหวัดนครสวรรค์ มีจำนวน 3,705 แฟ้ม ทำให้เกิดปัญหาเรื่องพื้นที่จัดเก็บ เอกสารเกิดการชำรุดและมีโอกาสสูญหายได้ จึงได้มีการปรับเปลี่ยนการจัดเก็บเอกสารสู่ความทันสมัยบนข้อมูล และหลักฐานเชิงประจักษ์ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยนำนวัตกรรมเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการข้อมูลที่เรียกว่า แฟ้มอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้สามารถสืบคันข้อมูลได้ง่าย และมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้การบริการต่อนายจ้าง ลูกจ้างผู้ประกันตน และประชาชน เป็นไปอย่างสะดวก รวดเร็ว สอดคล้องยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ยุทธศาสตร์ที่ 6 การปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ
…………………………