กรมอุทยานฯ บูรณาการ 3 องค์กร จัดทำ MOU ด้านการลาดตระเวนเชิงคุณภาพสำหรับ การจัดการพื้นที่คุ้มครอง

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยคณะวนศาสตร์ สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย และองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) สำนักงานประเทศไทย ลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจวิชาการด้านการลาดตระเวนเชิงคุณภาพสำหรับการจัดการพื้นที่ป่าคุ้มครอง

วันที่ 11 มีนาคม 2563 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้จัดพิธีลงนามบันทึกตกลงความเข้าใจ (MOU) โดยมีนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชเป็นประธานในพิธีการลงนาม พร้อมด้วย ผศ.ดร นิคม แหลมสัก คณบดีคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ ดร.อนรรฆ พัฒนวิบูลย์ ผู้อำนวยการสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย และนางสาวพิมพ์ภาวดี พหลโยธิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) สำนักประเทศไทย เข้าร่วมลงนามข้อตกลงดังกล่าว ณ ห้องประชุมชั้น 5 อาคารศูนย์ปฏิบัติการกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

นายธัญญา เนติธรรมกุล กล่าวว่า การลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (SMART Patrol) ว่าเป็นระบบการบังคับใช้กฎหมายที่มีมาตรฐานและประสิทธิภาพ เพื่อใช้ในการทำงานป้องกันและปราบปรามและการจัดการพื้นที่อนุรักษ์ ภายใต้หลักวิชาการ โดยปัจจุบัน กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้ใช้ระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพในพื้นที่ป่าอนุรักษ์จำนวน 213 แห่ง ครอบคลุมพื้นที 19 กลุ่มป่า ทั่วประเทศ โดยมีการติดตามตรวจสอบ และประเมินผลการปฏิบัติงานลาดตระเวนอย่างต่อเนื่องมีมาตรฐาน ทั้งนี้สิ่งที่สำคัญยิ่งในการพัฒนาระบบการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ คือการพัฒนาบุคลากร ซึ่งการพัฒนาศักยภาพของบุคลากร ถือเป็นหนึ่งองค์ประกอบสำคัญในการขับเคลื่อนความสำเร็จ โดยเฉพาะนิสิตคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเป็นผู้ที่จะสำเร็จการศึกษาและออกไปปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานด้านการอนุรักษ์ ในตำแหน่งนักวิชาการป่าไม้ และบังคับบัญชาเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าควรจะต้องมีความรู้ความเข้าใจงานด้านการลาดตระเวนเชิงคุณภาพเป็นอย่างดี อีกทั้งการเรียนรู้งานการพัฒนาระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพร่วมกัน ยังจะเป็นโอกาสได้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ พัฒนาเทคนิคการฝึกอบรมการวิเคราะห์ข้อมูลจากระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพในลักษณะฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data) ซึ่งกำลังมีการดำเนินงานในพื้นที่อนุรักษ์ทั่วประเทศ ดังนั้น เพื่อเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็ง แก่ทรัพยากรบุคคลระดับผู้นำหน่วยในพื้นที่อนุรักษ์ในปัจจุบันและในอนาคตอย่างมีมาตรฐานและประสิทธิภาพ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จึงได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความเข้าใจดังกล่าวขึ้นมา โดยกำหนดระยะเวลาดำเนินงานร่วมกัน 5 ปี

ภายใต้ความร่วมมือครั้งนี้ มุ่งเน้นความร่วมมือระหว่างองค์กรให้เกิดรูปธรรมมากยิ่งขึ้น เพื่อเสริมความเข้มแข็งในการส่งเสริม สนับสนุน และการพัฒนางานด้านการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ ร่วมมือกันส่งเสริมการพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมการลาดตระเวนเชิงคุณภาพทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ และการนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสมในพื้นที่ อย่างเป็นรูปธรรม โดยจะมีการร่วมพัฒนาสถานที่ฝึกและสนับสนุนจัดหาอุปกรณ์การฝึกอบรมการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ ณ ศูนย์ฝึกอบรมการอนุรักษ์เสือโคร่งระดับภูมิภาค ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งให้เป็นสถานที่ฝึกอบรมหลักด้านระบบลาดตระเวน เชิงคุณภาพ และการอนุรักษ์เสือโคร่งและสัตว์ป่า ของเจ้าหน้าที่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นิสิตคณะวนศาสตร์ และเจ้าหน้าที่อนุรักษ์สัตว์ป่าในระดับนานาชาติ

โดยจัดทำรายละเอียดข้อเสนอโครงการและงบประมาณเป็นรายโครงการ เพื่อส่งเสริมในด้านการพัฒนาศักยภาพของนิสิตคณะวนศาสตร์ นักวิชาการป่าไม้ และเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ในด้านความรู้และทักษะการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ การดูแลและใช้โปรแกรมฐานข้อมูลการลาดตระเวน และพัฒนาฐานข้อมูลด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่าอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนทั้งการวิเคราะห์ และการนำข้อมูล ไปประยุกต์ใช้เพื่อการจัดการพื้นที่อนุรักษ์บนพื้นฐานของวิชาการและความร่วมมือซึ่งองค์กรภาคีจะร่วมมือและสนับสนุนสร้างความเข้มแข็งให้แก่ วิชา “การลาดตระเวนเชิงคุณภาพ สำหรับการจัดการพื้นที่คุ้มครอง” ซึ่งเป็นวิชาที่เปิดการเรียนการสอนภายใต้หลักสูตรของคณะวนศาสตร์ รวมทั้งการสนับสนุนทรัพยากรต่าง ๆ เพื่อให้การจัดการเรียนการสอนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อันจะส่งให้เกิดการพัฒนา ศักยภาพของนิสิตตามจุดประสงค์ของรายวิชา โดยเน้นการฝึกปฏิบัติร่วมกันระหว่างนิสิตคณะวนศาสตร์กับนักวิชาการป่าไม้และเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ทั้งนี้ องค์กรภาคีจะร่วมมือในการพัฒนาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งการสนับสนุนบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเพื่อสนับสนุนให้การพัฒนาการเรียนการสอนด้านการลาดตระเวนเชิงคุณภาพให้ดียิ่งขึ้น เพื่อก่อประโยชน์แก่งานด้านอนุรักษ์ต่อไป