ศาสตราจารย์ ดร.สุพรรณ ฟู่เจริญ นักวิทยาศาสตร์การแพทย์เกียรติยศ ประจำปี 2563

มูลนิธิกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เชิดชู ศาสตราจารย์ ดร.สุพรรณ ฟู่เจริญ เป็นนักวิทยาศาสตร์การแพทย์เกียรติยศ ประจำปี 2563 ด้วยเป็นผู้อุทิศตนในการศึกษาวิจัยโรคธาลัสซีเมียและฮีโมโกลบินผิดปกติ เกิดเป็นองค์ความรู้และนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่ใช้ควบคุมป้องกันโรคธาลัสซีเมีย อันเป็นคุณูปการอย่างยิ่งต่อประเทศ

วันที่ 10 มีนาคม 2563 ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันสถาปนากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ครบรอบ 78 ปี นายแพทย์สถาพร วงษ์เจริญ ประธานกรรมการมูลนิธิกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยผู้ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์การแพทย์เกียรติยศ ประจำปี 2563 ว่า มูลนิธิกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้คัดเลือกผู้สร้างหรือริเริ่มงาน และอุทิศตนเพื่อประโยชน์ต่อวงการวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยมีผลงานที่มีประโยชน์ต่อการแพทย์และการสาธารณสุขของประเทศไทยอันเป็นที่ประจักษ์ และเป็นผู้มีคุณธรรม จริยธรรม เป็นแบบอย่างให้แก่บุคคลในวงการวิทยาศาสตร์การแพทย์และบุคคลทั่วไป เพื่อรับรางวัลนักวิทยาศาสตร์การแพทย์เกียรติยศ และผู้ที่ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์การแพทย์เกียรติยศ ประจำปี พ.ศ. 2563 คือ ศาสตราจารย์ ดร.สุพรรณ ฟู่เจริญ ซึ่งท่านเป็นผู้อุทิศตนในการศึกษาวิจัยโรคธาลัสซีเมียและฮีโมโกลบินผิดปกติ เกิดเป็นองค์ความรู้และนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่ใช้ควบคุมป้องกันโรคธาลัสซีเมีย อันเป็นคุณูปการอย่างยิ่งต่อประเทศ

ประธานกรรมการมูลนิธิกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวต่ออีกว่า ผลงานเด่นศาสตราจารย์ ดร.สุพรรณ ฟู่เจริญ คือการศึกษาธาลัสซีเมียและฮีโมโกลบินผิดปกติในคนไทย โดยเริ่มต้นจากงานวิจัยพื้นฐานระดับโมเลกุลสู่การควบคุมและป้องกันโรคและการค้นพบฮีโมโกลบินชนิดใหม่ของโลก ศาสตราจารย์ ดร.สุพรรณ ฟู่เจริญ ได้จัดตั้งกลุ่มวิจัยธาลัสซีเมีย ศูนย์วิจัยและพัฒนาการตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ (ศวป.) คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และได้ดำเนินการศึกษาวิจัยเกาะติดเกี่ยวกับโรคธาลัสซีเมียและฮีโมโกลบินผิดปกติ ซึ่งเป็นโรคโลหิตจางกรรมพันธุ์ที่เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย โดยในระยะแรกได้ศึกษาเชิงลึกถึงพื้นฐานการเกิดโรคในระดับโมเลกุล เพื่อให้ได้องค์ความรู้สำหรับคนไทย และนำองค์ความรู้ดังกล่าวมาใช้เป็นฐานในการพัฒนาวิธีการตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการในระดับโมเลกุลทั้งในระยะก่อนและหลังคลอด รวมถึงการแสดงออกของอาการผู้ป่วย เกิดเป็นองค์ความรู้ในการให้คำปรึกษาแนะนำทางพันธุกรรมและการควบคุมและป้องกันโรคธาลัสซีเมีย ทั้งยังสามารถขยายงานวิจัยพื้นฐานไปสู่การดำเนินการวิจัยและพัฒนาชุดตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการ ที่สามารถขยายผลเชิงพาณิชย์ร่วมกับภาคเอกชนและใช้กันอย่างแพร่หลายจนถึงปัจจุบัน

นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ ดร.สุพรรณ ฟู่เจริญ มีผลงานการวิจัยและรายงานฮีโมโกลบินผิดปกติชนิดต่าง ๆ ในระดับโมเลกุลที่ตรวจพบในคนไทยไว้หลายชนิด เนื่องจากประเทศไทยมีความชุกของธาลัสซีเมียและฮีโมโกลบินผิดปกติค่อนข้างสูง โดยเป็นพาหะ α–thalassemia, β–thalassemia, Hb E, Hb Constant Spring หรือ Hb Pakse’ ร้อยละ 20-30, 3-9, 20-30, และ 1-8 ตามลำดับ รวมทั้งฮีโมโกลบินผิดปกติชนิดอื่น ๆ ไม่น้อยกว่า 40 ชนิด จึงมีโอกาสพบการมีปฏิสัมพันธ์ของยีนฮีโมโกลบินผิดปกติร่วมกับธาลัสซีเมียหรือฮีโมโกลบินผิดปกติต่างชนิดในผู้ป่วยรายเดียวกันได้ ซึ่งจะทำให้มีอาการแสดงออกที่ซับซ้อนและยากที่จะให้การวินิจฉัยจากผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการทั่วไป การพัฒนาเทคนิคการตรวจวินิจฉัยสำหรับการตรวจยีนฮีโมโกลบินผิดปกติชนิดต่าง ๆ ที่พบได้บ่อยในประชากรไทย จึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับงานบริการในห้องปฏิบัติการชันสูตรโรคที่จะนำไปใช้สำหรับการตรวจวินิจฉัยให้กับประชากรไทยได้อย่างครอบคลุมทั่วประเทศ อันจะส่งผลให้แพทย์ที่ดูแลรักษาผู้ที่มีฮีโมโกลบินผิดปกตินั้นสามารถให้การดูแลรักษาตลอดจนให้คำแนะนำปรึกษาทางพันธุกรรมได้อย่างถูกต้อง ส่งผลให้การควบคุมและป้องกันโรคธาลัสซีเมียและฮีโมโกลบินผิดปกติของประเทศไทยดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ กว้างขวางและครอบคลุมพื้นที่ในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น