แพทย์แผนไทยแจงข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับยาฟ้าทะลายโจร พร้อมย้ำวิธีใช้ให้ได้ผล ต้องใช้ทันทีเมื่อเริ่ม มีอาการ
นายแพทย์สรรพงศ์ ฤทธิรักษา รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) มีการแพร่ระบาดในหลายพื้นที่ทั่วโลก ส่งให้มีผู้เสียชีวิตและ ผู้ป่วยจำนวนมากนั้น
กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จึงขอแนะนำประชาชนเตรียมรับมือโรคด้วยการพกพา ยาฟ้าทะลายโจร ชนิดแคปซูล ซึ่งเป็นยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ มีสรรพคุณบรรเทาอาการเจ็บคอ บรรเทาอาการของโรคหวัด เช่น เจ็บคอ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ แนะนำให้ใช้ทันที เมื่อมีอาการ ให้รับประทาน ยาฟ้าทะลายโจร ชนิดแคปซูล ขนาด 500 มิลลิกรัม ครั้งละ 3 แคปซูล หรือตามปริมาณของขนาดแคปซูลที่ใช้บรรจุ หรือสารสกัดจากฟ้าทะลายโจรรับประทาน ครั้งละ 1 แคปซูล วันละ 4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน สามารถซื้อได้ตามร้านสะดวกซื้อและร้านขายยาทั่วไปเนื่องจากเป็นยาสามัญประจำบ้าน สำหรับยาฟ้าทะลายโจรนั้นห้ามใช้ในผู้หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร และในผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บคอ มีตุ่มหนองในคอ มีไข้สูง หนาวสั่น เนื่องจากติดเชื้อแบคทีเรีย และห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ฟ้าทะลายโจร หากมีอาการแพ้ฟ้าทะลายโจร เช่น เกิดผื่น ลมพิษ หน้าบวม หายใจลำบาก ริมฝีปากบวม ให้หยุดใช้ยาทันทีและไม่ควรใช้ยาฟ้าทะลายโจรอีก และควรระวังการใช้ร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเกล็ดเลือด ยาลดความดัน เป็นต้น หากใช้ยาฟ้าทะลายโจรติดต่อกัน 3 วัน แล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือมีอาการรุนแรงขึ้นระหว่างใช้ยา ควรหยุดใช้และไปพบแพทย์
นายแพทย์สรรพงศ์ กล่าวในตอนท้ายว่า สำหรับผู้ที่ยังไม่มีอาการไข้หวัด ไอ เจ็บคอ ไม่ควรตื่นตะหนก กินยาฟ้าทะลายโจรเพื่อการป้องกันไข้หวัด เพราะอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ เช่น ปวดท้อง คลื่นไส้ เบื่ออาหาร วิงเวียนศรีษะ ใจสั่น และอาจเกิดลมพิษได้ อีกทั้งในปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ ที่เพียงพอสามารถยืนยันแน่ชัดว่า ยาฟ้าทะลายโจรสามารถกินเพื่อป้องกันไข้หวัดได้ ดังนั้นประชาชน ควรสร้างความแข็งแรงให้ร่างกายด้วยการรับประทานอาหารให้ครบทุกมื้อ ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกาย อย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 6 – 8 ชั่วโมง และป้องกันตนเองตามคำแนะนำของ กระทรวงสาธารณสุข คือ หลีกเลี่ยงการไปในพื้นที่เสี่ยงหรือที่ชุมชน กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ สวมหน้ากากอนามัยเมื่อป่วย จะช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้ สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่กรมการแพทย์แผนไทยและ การแพทย์ทางเลือก โทร. 0 2149 5678 หรือเข้าเว็บไซต์ www.dtam.moph.go.th