เสมา 3 จัดการศึกษาในพื้นที่ระนอง พร้อมรองรับทั้งคนไทยและผู้ไม่มีสัญชาติไทย

วันที่ 8 มีนาคม 2563 ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย ดร.กมล รอดคล้าย ที่ปรึกษา รมช.ศธ. ดร.พะโยม ชินวงศ์ ประธานคณะทำงาน รมช.ศธ. นายชลำ อรรถธรรม ที่ปรึกษา สช. และคณะ ลงพื้นที่ตรวจราชการและติดตามงานตามนโยบาย ณ สำนักงาน กศน.จังหวัดระนอง อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง โดยมีนายพรเทพ ผ่องศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง นายคงกฤษ ฉัตรมาลีรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดระนอง นางนัยนา จำเนียร ผู้อํานวยการ สํานักงาน กศน.จังหวัดระนอง รวมทั้งผู้บริหารในพื้นที่ ข้าราชการ ครู บุคลากรทางการศึกษาในพื้นที่ให้การต้อนรับ

ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวภายหลังการลงพื้นที่ตรวจราชการ ณ สำนักงาน กศน. จังหวัดระนอง ว่า “จังหวัดระนอง แม้จะเป็นจังหวัดเล็กๆที่ใครต่อใครถือว่าเป็นเมืองผ่าน แต่สำนักงาน กศน.จังหวัดระนอง ก็สามารถดำเนินการจัดการศึกษาให้นักศึกษา ประชาชนได้อย่างมีคุณภาพ ซึ่งขอชื่นชมกับความมุ่งมั่นตั้งใจในการปฎิบัติหน้าที่ของผู้บริหาร ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ทุกท่าน ตนเชื่อมั่นว่าในอนาคต จังหวัดนี้จะเป็นจังหวัดเล็ก ๆ ที่เข้มแข็ง และมีคุณภาพมากยิ่งขึ้นได้อย่างแน่นอน โดยเฉพาะการจัดการศึกษาให้กับผู้ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวพม่าที่เข้ามาทำงานตั้งรกรากที่นี่เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ตนได้ให้ความสำคัญกับขวัญกำลังใจของบุคลากรเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะ ครู กศน.ตำบล ที่ถือว่าเป็นครูพันธุ์พิเศษ ในหัวใจของตนเสมอมา เพราะสำหรับตนแล้ว หากคนทำงานมีกำลังใจแล้วก็จะสามารถทุ่มเททำงานเพื่อพัฒนางานของตนได้เต็มที่ ซึ่ง นโยบายการสอบบรรจุครู กศน. ที่รับปากดำเนินการไว้นั้น 1 ตุลาคม นี้ จะได้รับการบรรจุเข้ารับราชการจำนวน 891 อัตรา และครู กศน. ทั้งหมดจะได้รับการอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพให้พร้อมกับภารกิจของ กศน. อย่างเหมาะสมและการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกในปัจจุบัน สมกับเป็นครูพันธุ์พิเศษที่พร้อมทำงานเพื่อประชาชนอย่างเต็มที่

สำหรับประเด็นการจัดการศึกษากรณีที่มีนักศึกษาต่างด้าวมาเรียนเป็นจำนวนมาก เพราะเป็นพื้นที่ชายขอบติดกับประเทศพม่า ซึ่งในจุดนี้กระทรวงศึกษาธิการ โดย สำนักงาน กศน. ได้ให้ความสำคัญในการจัดการศึกษาทุกช่วงวัยอย่างเท่าเทียม โดยการจัดการเรียนการสอนนั้นมีแนวนโยบายที่จะเพิ่มอัตราสำหรับครูที่มีทักษะด้านภาษาตามบริบทของพื้นที่อยู่แล้ว โดยเฉพาะพื้นที่ชายขอบ ชายแดนที่มีความจำเป็นในการจัดการศึกษาสำหรับประชาชน ทั้งในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อพัฒนาส่งเสริมทักษะการเรียนภาษาเพื่ออาชีพให้สามารถพูดได้หลายภาษา อาทิ ภาษาพม่า มาทำการสอนนักศึกษาตลอดจนประชาชนในพื้นที่ รวมถึงส่งเสริมให้มีวิทยากร (Coach ) เพื่อถ่ายทอดความรู้ และภาษาให้กับครู กศน. ต่อไป และหากสามารถอบรมผ่านช่องทางอื่นๆ ได้เช่น ผ่านช่องทางของสถานีโทรทัศน์เพื่อการศึกษา หรือ ETV หรือ การเรียนออนไลน์ เพื่อที่จะให้ผู้เรียน และบุคลากรของเราสามารถเข้าร่วมอบรมได้ทุกที่ทุกเวลาต่อไป”

จากนั้น ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ และคณะ ได้เดินทางไปยังห้องสมุดประชาชน “เฉลิมราชกุมารี” จังหวัดระนอง และค่ายลูกเสือจังหวัดระนอง (ค่ายลูกเสือโตนเพชร) อำเภอเมือง จังหวัดอ่างทอง ตามลำดับ สำหรับห้องสมุดประชาชน “เฉลิมราชกุมารี” จังหวัดระนองยังไม่เปิดให้บริการ เนื่องจากกำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการตกแต่ง และปรับภูมิทัศน์โดยรอบ ดร.กนกวรรณ กล่าวตอนหนึ่งว่า “ ตั้งใจมาดูการดำเนินการของที่นี่เพื่อรับฟังปัญหา และหาแนวทางยกระดับห้องสมุดฯ ให้มีความพร้อมในการเป็น “ห้องสมุดมีชีวิต” ในยุคดิจิทัล ก่อนเปิดให้บริการเพื่อให้เกิดความพร้อมสำหรับรองรับความต้องการ และสร้างโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาตลอดจนการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งเราต้องตีโจทย์การจัดกระบวนการเรียนรู้ให้ครอบคลุมทุกมิติ เพื่อสร้างและส่งเสริมให้ห้องสมุดกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีชีวิต เพื่อสร้างการเรียนรู้ในยุคดิจิทัลให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม สามารถดึงดูดความสนใจของผู้ใช้บริการทุกช่วงวัยได้อย่างหลากหลาย โดย ได้มีความร่วมมือระหว่าง สำนักงาน กศน.กับสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (TK Park) ในการเปิดให้ห้องสมุดประชาชนสามารถเข้าใช้บริการระบบ e-Library ของ TK Park ได้ตั้งแต่วันที่ 4 เมษายนเป็นต้นไป ซึ่งจะทำให้ประชาชนที่เข้าใช้บริการห้องสมุดประชาชนทุกแห่งทั่วประเทศ สามารถเข้าถึง e-Book มากกว่า 20,000 เล่ม นอกจากนี้ได้มอบหมายให้ สำนักงาน กศน.จังหวัดระนองพิจารณาความเหมาะสมในการจัดพื้นที่ (Zoning) ในการบริการที่เอื้อต่อผู้สูงอายุ และผู้พิการด้วย”

สำหรับการติดตามการดำเนินงานของค่ายลูกเสือจังหวัดระนอง (ค่ายลูกเสือโตนเพชร) ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศธ. เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ค่ายลูกเสือฯ ว่า “การตรวจเยี่ยมค่ายลูกเสือจังหวัดระนอง บนเนื้อที่กว่า 80 ไร่ ในวันนี้ เพราะต้องการมาติดตามการพัฒนาค่ายลูกเสือและดูสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยตนเอง หลังจากที่ได้มอบให้สำนักงานลูกเสือแห่งชาติได้จัดสรรงบประมาณ มายังสำนักงานลูกเสือจังหวัดระนอง ในปีงบประมาณ 2562-2563 เพื่อใช้ในการปรับปรุงที่พักผู้เข้ารับการอบรม และปรับปรุงอาคารเอนกประสงค์ ซึ่งเดิมแล้วที่นี่เคยถูกปล่อยทิ้งร้าง ไม่ได้รับการสนับสนุนปรับปรุงใดๆมาเป็นระยะเวลานานตั้งแต่ปี 2556 ทำให้ที่ผ่านมาการดำเนินงานกิจการลูกเสือ ต้องไปขอใช้สถานที่ของโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 38 อำเภอเมือง จังหวัดระนอง เป็นพื้นที่สำหรับจัดพิธีการต่าง ๆ รวมทั้งเป็นสถานที่อบรมของลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด และบุคลากรในจังหวัดระนองมาตลอด ซึ่งจากการมาติดตามด้วยตนเองในวันนี้ พบว่าแม้ได้รับงบประมาณปรับปรุงอาคารและที่พักมาแล้ว ที่นี่ก็ยังมีความจำเป็นอย่างมากในการปรับสภาพแวดล้อม จัดหาสาธารณูปโภคต่าง ๆ ให้มีความพร้อมสมบูรณ์ ปลอดภัย เพื่อรองรับการพัฒนาผู้เข้ารับการฝึกอบรมลูกเสือเนตรนารี ประชาชน ตลอดจนการจัดอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้พิการให้เข้ามาใช้บริการได้อย่างเต็มที่ โดยส่วนหนึ่งอาจต้องอาศัยภาคีเครือข่ายทั้งฝ่ายปกครองในพื้นที่ภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ที่เกี่ยวข้องในการสร้างแบบอย่างของการมีส่วนร่วมและจิตอาสา เพื่อฟื้นฟูและร่วมพัฒนา ปรับปรุงสภาพแวดล้อม สาธารณูปโภค และบ้านพักของครูและบุคลากรทางการลูกเสือ ตลอดจนลูกเสือ เนตรนารี และยุวกาชาด ให้เอื้อและพร้อมต่อการรองรับการจัดกิจกรรมต่าง ๆรวมถึงเป็นแหล่งเรียนรู้ เพื่อพัฒนาทักษะ อบรมระเบียบวินัย ความมีจิตอาสา เป็นอาสาสมัครทำประโยชน์แก่สังคม ให้แก่เด็ก เยาวชน รวมทั้งประชาชน ในจังหวัดระนองได้อย่างมีประสิทธิภาพ สมบูรณ์มากยิ่งขึ้นในอนาคต นอกจากนี้จะให้นำหลักสูตรลูกเสือมัคคุเทศก์ ที่เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ กับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เข้ามาจัดพัฒนาลูกเสือของจังหวัดระนองอย่างข้มข้น เพื่อให้มีทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษได้อย่างมั่นใจ เพื่อสร้างรายได้ รองรับนักท่องเที่ยวและเป็นใบเบิกทางในการเป็นมัคคุเทศก์อาชีพต่อไป” ดร.กนกวรรณ กล่าวในที่สุด

ข่าว : เอื้อมพร สุเมธาวัฒนะ กรรณิกา พันธ์คลอง
ภาพ : ปรานี บุญยรัตน์ ณัฐวุฒิ วากะดวน