กรมชลฯ ร่วมเสวนากู้วิกฤตภัยแล้งและระบบประปาเค็มปี 2563

ราชบัณฑิตยสภาร่วมกับสำนักงานราชบัณฑิตยสภา รวมหน่วยงานบริหารจัดการน้ำ จัดเสวนาใหญ่ “กู้วิกฤตภัยแล้งและระบบประปาเค็มปี 2563”

วันที่ 3มี.ค.63 นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เวทีเสวนาสาธารณะราชบัณฑิตยสภาในประเด็นเรื่อง  กู้วิกฤตภัยแล้งและระบบประปาเค็มปี 2563 จัดขึ้นโดยราชบัณฑิตยสภาร่วมกับสำนักงานราชบัณฑิตยสภา โดยมี นายธีระพล ตั้งสมบุญ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา  กรมชลประทาน พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ  กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล เข้าร่วมการเสวนา ณ ห้องประชุม 401-403 ชั้น 4 สำนักงานราชบัณฑิตยสภา กรุงเทพมหานคร

ในการนี้ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา ได้กล่าวถึงการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งว่า สืบเนื่องจากในช่วงฤดูฝนปี 62 ที่ผ่านมา มีปริมาณฝนตกน้อยกว่าค่าปกติ ส่งผลให้ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติและปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำลดน้อยลงตามไปด้วย หลายพื้นที่ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำ กรมชลประทาน จึงต้องบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2562/63 อย่างรัดกุม ด้วยการวางมาตรการจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนตามลำดับความสำคัญของกิจกรรมการใช้น้ำ  โดยจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ เป็นหลัก พร้อมสำรองไว้ใช้ต้นฤดูฝนหน้านี้ด้วย ส่วนภาคการเกษตรและอุตสาหกรรม ถูกจัดความสำคัญรองลงมาตามความเป็นอย่างมีขีดจำกัด

จากสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้น ประกอบกับปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำ และแหล่งน้ำต่างๆ อยู่ในเกณฑ์น้อย กรมชลประทาน จึงได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือจากเกษตรกร กลุ่มผู้ใช้น้ำ รวมไปถึงทุกภาคส่วน ให้ร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัด พร้อมกำหนดแนวทางการบริหารน้ำร่วมกับชุมชน เพื่อให้ทุกพื้นที่มีน้ำเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค รวมไปถึงการเตรียมพร้อมด้านเครื่องมือเครื่องจักร อาทิ เครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ รถบรรทุกน้ำ ไว้ค่อยช่วยเหลือพื้นที่ที่ประสับภัยแล้ง นอกจากนี้ยังได้ดำเนินโครงการส่งเสริมอาชีพทางเลือก ด้วยการจ้างแรงงานชลประทาน เพื่อปรับปรุงซ่อมแซมอาคารชลประทาน สร้างรายได้ทดแทนให้แก่เกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบอีกทางหนึ่งด้วย

ในส่วนของการแก้ไขปัญหาค่าความเค็มในลุ่มเจ้าพระยาที่ส่งผลต่อคุณภาพน้ำในการนำมาผลิตน้ำประปา นั้น กรมชลประทาน ได้วางมาตรการการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ด้วยการระบายน้ำจากเขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยบำรุงแดน และป่าสักชลสิทธิ์ รวมกันประมาณวันละ 18 ล้าน ลบ.ม. เพื่อผลักดันค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยจา นอกจากนี้ ยังได้ทำการผันน้ำจากลุ่มแม่กลองที่มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ดี ผ่านทางแม่น้ำท่าจีน มายังคลองพระยาบรรลือ และคลองพระพิมล ก่อนลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อไล่ความเค็มตามลำดับ  พร้อมกันนี้ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำและเครื่องผลักดันน้ำในคลองพระยาบันลือ และคลองพระพิมล รวม 104 เครื่อง เพื่อเร่งการระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนด้านท้ายน้ำได้บริหารจัดการน้ำด้วยการปิดเปิดประตูระบายน้ำของลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริตามการขึ้นลงของน้ำทะเล  ทั้งนี้ ยังได้บูรณาการร่วมกับการประปานครหลวง ปฏิบัติการ Water Hammer ผลักดันลิ่มความเค็ม ด้วยการเพิ่มปริมาณน้ำจืดเพื่อน้ำมาใช้ผลักดันและเจือจางค่าความเค็มบริเวณสถานีสูบสำแล โดยกำหนดให้หยุดสูบเป็นเวลา 2 ชั่วโมง ในช่วงเวลาน้ำลงเพื่อจะได้มีปริมาณน้ำจืดที่มากพอสำหรับผลักดันลิ่มความเค็มให้เคลื่อนตัวไปให้ไกลจากสถานีสูบน้ำสำแล ปัจจุบันได้ดำเนินการดังกล่าวไปแล้ว 5 ครั้ง ผลการปฏิบัติงานเป็นไปตามแผนสามารถควบคุมค่าความเค็มให้อยู่ในเกณฑ์ที่นำมาผลิตน้ำประปาได้

อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนตระหนักถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ร่วมแรงร่วมใจกันประหยัดน้ำ หากต้องการความช่วยเหลือ สามารถแจ้งไปยังสำนักงานชลประทานในพื้นที่ หรือโทรสายด่วนกรมชลประทาน1460


กรมชลประทาน

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์