ชป.เดินหน้าใช้น้ำตามแผนฯ เน้นอุปโภค-บริโภค รักษาระบบนิเวศ และผลักดันค่าความเค็ม

วันที่ 20 ก.พ. 63 นายธีระพล ตั๊งสมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน เข้าร่วมประชุมคณะทำงานภายใต้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ครั้งที่ 4/2563 โดยมีดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมฯ ณ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ

สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ปัจจุบัน(20 ก.พ. 63) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกัน 42,449 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 56 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 18,684 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 36 ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน เฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่ใช้น้ำจาก 4 เขื่อนหลัก(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 10,072 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 40 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 3,376 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 19 ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน

ส่วนแผนการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้ง ปี 2562/2563 ทั้งประเทศกำหนดไว้รวมกันประมาณ 17,699 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแผนจัดสรรน้ำรวม 4,500 ล้าน ลบ.ม.(เป็นน้ำจาก 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา 3,500   ล้านลบ.ม. และผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองมาเสริมอีกรวม 1,000 ล้าน ลบ.ม.) ผลการจัดสรรน้ำปัจจุบัน(20 ก.พ. 63)ทั้งประเทศจัดสรรน้ำไปแล้ว 10,066 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 57 ของแผนฯ เฉพาะในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา จัดสรรน้ำไปแล้ว 2,830 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 63 ของแผนฯ

ด้านค่าความเค็มในลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำท่าจีน มีค่าความเค็มเพิ่มสูงขึ้น หลังมีน้ำทะเลหนุน กรมชลประทาน ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมเร่งลำเลียงน้ำจากแม่น้ำแม่กลองและแม่น้ำป่าสัก เพื่อช่วยผลักดันค่าความเค็มออกสู่อ่าวไทยตามแผนฯที่วางไว้อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเวลา 07.00 น. ของวันนี้   (20 ก.พ. 63)ค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา ที่สถานีประปาสำแล วัดได้ 0.24 กรัมต่อลิตร (เกณฑ์เฝ้าระวัง
0.25 กรัมต่อลิตร มาตรฐานเพื่อการผลิตน้ำประปาไม่เกิน 0.50 กรัมต่อลิตร) แม่น้ำท่าจีน ที่สถานีปากคลองจินดาวัดได้ 0.25 กรัมต่อลิตร (เกณฑ์เฝ้าระวังสำหรับกล้วยไม้ 0.75 กรัมต่อลิตร เกณฑ์เฝ้าระวังเพื่อการเกษตรไม่เกิน 2 กรัมต่อลิตร) ส่วนแม่น้ำปราจีน-บางปะกง ที่สถานีปราจีนบุรี วัดได้ 0.12 กรัมต่อลิตร (เกณฑ์เฝ้าระวังเพื่อการเกษตรไม่เกิน 2 กรัมต่อลิตร) และ แม่น้ำแม่กลอง ที่สถานีปากคลองดำเนินสะดวก วัดได้ 0.13 กรัมต่อลิตร (เกณฑ์เฝ้าระวังสำหรับกล้วยไม้ 0.75 กรัมต่อลิตร เกณฑ์เฝ้าระวังเพื่อการเกษตรไม่เกิน 2 กรัมต่อลิตร)

ในส่วนของแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2562 ปัจจุบัน(ข้อมูล ณ วันที่ 19 ก.พ. 63) ได้ทำการเพาะปลูกทั้งประเทศรวม 4.02 ล้านไร่ เกินแผนฯไปแล้วร้อยละ 42 เก็บเกี่ยวแล้ว 0.44 ล้านไร่ โดยแยกเป็นข้าวนาปรัง 3.63 ล้านไร่ เกินแผนไปแล้วร้อยละ 57 เก็บเกี่ยวแล้ว 0.42 ล้านไร่ และพืชไร่-พืชผัก 0.39 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 75 ของแผนฯ เก็บเกี่ยวแล้ว 0.21 ล้านไร่ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาไม่มีแผนการเพาะปลูกพืชเนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนมีไม่เพียงพอต่อการสนับสนุนด้านการเกษตร แต่จากการสำรวจพบว่าบางพื้นที่ได้ทำการเพาะปลูกพืชนอกแผนฯ ไปแล้วประมาณ 2 ล้านไร่ เก็บเกี่ยวแล้ว 0.19 ล้านไร่ ส่วนใหญ่ใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่ของตนเองในการเพาะปลูก


ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) กรมชลประทาน

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์