กรมชลประทาน เพิ่มการระบายน้ำเขื่อนร้อยเอ็ด กว่า 5 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อเติมน้ำบริเวณหน้าเขื่อนยโสธร ช่วยเหลือน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคในพื้นที่จังหวัดยโสธร และจังหวัดอุบลราชธานี วอนทุกภาคส่วนร่วมใจใช้น้ำอย่างประหยัด เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนลดน้อยลงทุกวัน
ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน(19 ก.พ. 63) สถานการณ์น้ำในบริเวณลุ่มน้ำชีตอนล่าง ที่มีเขื่อน 6 แห่ง ได้แก่ เขื่อนชนบท เขื่อนมหาสารคาม เขื่อนวังยาง เขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร และเขื่อนธาตุน้อย ปริมาณน้ำที่มีอยู่บริเวณหน้าเขื่อนเหล่านี้ อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย โดยเฉพาะบริเวณหน้าเขื่อนยโสธร จังหวัดยโสธร มีปริมาณน้ำประมาณ 5 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 24 ของความจุเก็บกัก ถือว่าอยู่ในเกณฑ์น้อยมาก มีความเสี่ยงที่จะไม่เพียงพอสนับสนุนการใช้น้ำในบริเวณตอนล่างของลุ่มน้ำชี
กรมชลประทาน ได้ให้สำนักงานชลประทานที่ 6 พิจารณาเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด จากเดิมวันละประมาณ 2 ล้าน ลบ.ม. เป็นวันละประมาณ 3 ล้าน ลบ.ม. โดยเริ่มตั้งแต่วันนี้(20 ก.พ. 63) ไปจนถึงวันที่ 25 ก.พ. 63 เพื่อสนับสนุนน้ำสำหรับใช้ในการผลิตน้ำประปาของการประปาส่วนภูมิภาคสาขายโสธร ช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนล่าง ในพื้นที่จังหวัดยโสธร และจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งปริมาณน้ำดังกล่าวเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภคไปจนถึงสิ้นฤดูแล้งนี้อย่างแน่นอน
ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้กำหนดแนวทางในการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำชีตอนล่าง โดยใช้มาตการควบคุมการส่งน้ำตามรอบเวรที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด รวมไปถึงการเฝ้าระวัง และติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนให้ตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรน้ำอย่างจริงจัง ใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อให้มีน้ำอุปโภคบริโภคเพียงพอตลอดแล้งนี้ ลดความเสี่ยงปัญหาขาดแคลนน้ำในอนาคต
ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์