นายทวี มาสขาว รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ด้านส่งเสริมการผลิต เผยว่า ระยะนี้ผลไม้ภาคตะวันออกเริ่มทยอยให้ผลผลิตแล้ว โดยเฉพาะทุเรียนเป็นหนึ่งในสินค้าเกษตรที่สร้างรายได้จากการส่งออกให้กับประเทศไทย มีตลาดส่งออกหลัก คือ ประเทศจีน ส่งออกมากถึงร้อยละ 80 ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้กำหนดมาตรฐาน GAP พืชอาหาร (มกษ. 9001 – 2556 : การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชอาหาร) และมาตรฐานสินค้าเกษตร : ทุเรียน (มกษ. 3-2556) เพื่อให้เกษตรกรผู้ผลิตใช้เป็นแนวทางในการทำการเกษตรให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดีตามมาตรฐานที่กำหนด ผลผลิตสูงคุ้มค่าต่อการลงทุน กระบวนการผลิตมีความปลอดภัยต่อเกษตรกรและผู้บริโภค ผลผลิตเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคทั้งภายในและต่างประเทศ ดังนั้น กรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้ให้ข้อแนะนำแก่เกษตรกรในการปฏิบัติตามข้อกำหนดเพื่อให้ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP จากหน่วยงานรับรอง ดังนี้
- มาตรฐาน GAP พืชอาหาร (มกษ. 9001 – 2556) 8 ข้อ คือ
1.1 ใช้น้ำจากแหล่งน้ำสะอาด
1.2 ปลูกในพื้นที่ดี ไม่มีเชื้อโรค ไม่มีสารพิษในดิน เลือกชนิดของไม้ผลให้เหมาะสมเพื่อป้องกันดินเสื่อมโทรม และพื้นที่ปลูกต้องเป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
1.3 ใช้และเก็บ ปุ๋ย/สารเคมี อย่างถูกต้อง โดยจัดเก็บสารเคมีในสถานที่แยกจากที่พักอาศัย หรือที่ประกอบการ มีการระบายอากาศที่ดี, เก็บสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ฮอร์โมนพืช ให้เป็นหมวดหมู่ ไม่ปะปนกัน เขียนป้ายชัดเจน, ใช้สารเคมีที่ขึ้นทะเบียนถูกต้อง โดยอ่านฉลากและปฏิบัติตามวิธีใช้ ช่วงเวลา และปริมาณที่แนะนำไว้ในฉลากอย่างเคร่งครัด, ไม่ซื้อสารเคมีที่ร้านค้าแบ่งขายหรือไม่ติดฉลาก และสารเคมีต้องบรรจุในขวด/ภาชนะบรรจุที่ปิดฝาขวด/กล่องเรียบร้อย ไม่ฉีกขาด, ห้ามใช้หรือเก็บรักษาสารเคมีที่ราชการประกาศห้ามใช้ (ตาม พรบ. วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม), ป้องกันตนเองขณะฉีดพ่นสารเคมีอย่างถูกต้อง และอาบน้ำ สระผม เปลี่ยนเสื้อผ้าใหม่ทันที ภายหลังพ่นสารเคมีทุกครั้ง, หยุดใช้สารเคมีก่อนการเก็บเกี่ยวตามเวลาที่ระบุไว้ในฉลาก และภาชนะบรรจุสารเคมีที่ใช้หมดแล้ว ห้ามนำมาใช้ใหม่อีก ให้ทำลายโดยการฝังดินให้ห่างจากแหล่งน้ำ และลึกมากพอที่สัตว์ไม่สามารถคุ้ยขึ้นมาได้ ห้ามเผาทำลาย
1.4 จัดการคุณภาพในกระบวนการผลิตก่อนการเก็บเกี่ยว โดยปฏิบัติและดูแลรักษาไม้ผลในสวน/แปลง ตามขั้นตอนสำคัญต่างๆ ที่กำหนดไว้ในแผนควบคุมการผลิต
1.5 เก็บเกี่ยวผลผลิตถูกเวลา/ถูกวิธี โดยเก็บเกี่ยวผลผลิตในระยะที่เหมาะสม ตามความสุกแก่ของผลผลิตที่ระบุไว้ในแผนควบคุมการผลิต, ใช้อุปกรณ์เก็บเกี่ยว ภาชนะบรรจุผลผลิตที่สะอาด และวิธีการเก็บเกี่ยวที่ป้องกันการกระแทก ไม่ทำให้ผลผลิตบอบช้ำ และมีการจัดการระบบการผลิตเพื่อให้ได้ผลผลิตตรงตามข้อกำหนดของลูกค้า
1.6 การพัก การขนย้าย และการเก็บรักษาผลผลิตให้สะอาดและปลอดภัย โดยวางพักผลผลิตที่เก็บเกี่ยวในสวน/แปลง บนวัสดุรองพื้นที่สะอาดก่อนการขนย้าย เพื่อป้องกันการปนเปื้อนจากเชื้อโรคและสิ่งสกปรก, คัดแยกผลผลิตที่มีศัตรูพืชติดปะปนอยู่ออกจากผลผลิตที่มีคุณภาพ, คัดแยกผลผลิตที่ไม่มีคุณภาพออกจากผลผลิตที่มีคุณภาพหลังจากการเก็บเกี่ยว, ทำความสะอาดภาชนะ เช่น ตะกร้า ฯลฯ และพาหนะในการขนย้ายผลผลิตก่อนและหลังใช้งาน, สถานที่เก็บรักษาผลผลิตต้องสะอาด มีวัสดุปูรองพื้น อากาศถ่ายเทได้ดีและมีการป้องกันสัตว์พาหะนำโรค, ขนย้ายผลผลิตด้วยความระมัดระวัง ไม่ให้เกิดความสกปรก/บอบช้ำเสียหาย
1.7 ผู้ปฏิบัติงานต้องมีความรู้ความเข้าใจหรือได้รับการอบรม เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างถูกสุขลักษณะ และมีสิ่งอำนวยความสะดวกด้านสุขลักษณะส่วนบุคคลที่เพียงพอ ผู้ที่สัมผัสกับผลผลิตโดยตรงต้องมีการดูแลสุขลักษณะส่วนบุคคลและมีวิธีการป้องกัน และผู้ปฏิบัติเกี่ยวกับวัตถุอันตรายทางการเกษตรต้องได้รับการตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
1.8 จดบันทึกทุกขั้นตอน ต้องบันทึกข้อมูลการใช้สารเคมี ประวัติการฝึกอบรม ข้อมูลผู้รับซื้อผลผลิต การปฏิบัติงานก่อนและหลังการเก็บเกี่ยว และเก็บรักษาข้อมูลการปฏิบัติงานและเอกสารสำคัญอย่างน้อย 2 ปี ของการผลิตติดต่อกัน และผลผลิตที่อยู่ระหว่างการเก็บรักษา ขนย้ายหรือบรรจุเพื่อจำหน่ายต้องมีการระบุรุ่นหรือรหัส
- มาตรฐานสินค้าเกษตร : ทุเรียน (มกษ. 3-2556) 4 ข้อ คือ
2.1 มาตรฐานสินค้าเกษตรนี้ใช้กับผลทุเรียน ชื่อวิทยาศาสตร์ Durio spp. วงศ์ Bombacaceae (พันธุ์ที่ผลิตเป็นการค้า เพื่อนำมาบริโภคสด)
2.2 ชั้นคุณภาพ ประกอบด้วย 1) ชั้นพิเศษ (Extra Class) มีคุณภาพที่ดีที่สุด, มีลักษณะหนามสมบูรณ์, จำนวนพูสมบูรณ์ ไม่น้อยกว่า 4 พู, ไม่มีตำหนิ และไม่มีความผิดปกติด้านรูปทรง 2) ชั้นหนึ่ง (Class I) มีคุณภาพดี, จำนวนพูสมบูรณ์ ไม่น้อยกว่า 3 พู พูไม่สมบูรณ์อีก 2 พู และไม่ทำให้รูปทรงทุเรียนเสียไป 3) ชั้นสอง (Class II) มีคุณภาพ, จำนวนพูสมบูรณ์ ไม่น้อยกว่า 2 พู พูไม่สมบูรณ์อีก 2 พู และไม่ทำให้รูปทรงทุเรียนเสียไป
หมายเหตุ : ชั้นหนึ่งและชั้นสอง มีตำหนิได้เล็กน้อย จากกระบวนการก่อนและหลังการเก็บเกี่ยว/การขนส่ง เช่น รอยแผลเป็น หนามช้ำ (รวมต้องไม่เกิน 10% ของพื้นที่ผิวทุเรียน)
2.3 คุณภาพของทุเรียนที่ดี ต้องเป็นทุเรียนทั้งผลที่มีขั้วผล ตรงตามพันธุ์ สด สะอาด ปราศจากสิ่งแปลกปลอมที่มองเห็นได้ ไม่มีรอยแตกที่เปลือก ไม่มีศัตรูพืชที่มีผลกระทบต่อลักษณะภายนอกของผลทุเรียน ไม่มีร่องรอยความเสียหาย เนื่องมาจากศัตรูพืชที่มีผลกระทบต่อคุณภาพของเนื้อทุเรียน ไม่มีความเสียหาย เนื่องจากอุณหภูมิต่ำหรือสูง และผลทุเรียนสุก ไม่มีความผิดปกติของเนื้อ ได้แก่ แกน เต่าเผา ไส้ซึม
2.4 ขนาดผลทุเรียน : ขนาดผลที่เป็นพันธุ์ทางการค้าทั่วไป ควรมีน้ำหนักต่อผล ดังนี้ 1) พันธุ์ชะนี ไม่น้อยกว่า 1.5 กิโลกรัม/ไม่มากกว่า 4.5 กิโลกรัม 2) พันธุ์หมอนทอง ไม่น้อยกว่า 1.5 กิโลกรัม / ไม่มากกว่า 6 กิโลกรัม 3) พันธุ์ก้านยาว ไม่น้อยกว่า 1.5 กิโลกรัม / ไม่มากกว่า 4 กิโลกรัม 4) พันธุ์กระดุมทอง ไม่น้อยกว่า 1.3 กิโลกรัม / ไม่มากกว่า 4 กิโลกรัม 5) พันธุ์นวลทองจันทร์ ไม่น้อยกว่า 1.5 กิโลกรัม / ไม่มากกว่า 4.5 กิโลกรัม 6) พันธุ์พวงมณี ไม่น้อยกว่า 1.0 กิโลกรัม 7) พันธุ์หลงลับเเล ไม่น้อยกว่า 1.0 กิโลกรัม และ 8) พันธุ์อื่นๆ ที่เป็นพันธุ์ทางการค้า ไม่น้อยกว่า 0.5 กิโลกรัม
นอกจากข้อกำหนดข้างต้น การผลิตทุเรียนให้ถูกต้องและเหมาะสมเพื่อให้ได้ผลผลิตสูงและมีคุณภาพดีตรงตามมาตรฐานความต้องการของตลาด ชาวสวนจำเป็นจะต้องศึกษาหาข้อมูลและติดตามสถานการณ์ต่างๆ เพิ่มเติมด้วย โดยเฉพาะการส่งออกไปยังต่างประเทศซึ่งต้องมีการรับรองทั้งมาตรฐาน GAP และมาตรฐานโรงคัดบรรจุผลไม้ GMP ด้วย
อัจฉรา : ข่าว, กุมภาพันธ์ 2563, กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมส่งเสริมการเกษตร
สำนักส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตร : ข้อมูล