กรมส่งเสริมการเกษตร เผยหยุดวงจรโรคใบด่างมันสำปะหลังได้แล้ว 6 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ มหาสารคาม ระยอง ศรีสะเกษ สำหรับสถานการณ์ของโรคใบด่างมันสำปะหลัง พบว่า ข้อมูล ณ 12 กุมภาพันธ์ 2563 ยังคงเหลือพื้นที่ระบาด จำนวน 55,560.94 ไร่ ใน 11 จังหวัด และส่วนใหญ่สามารถควบคุมพื้นที่การระบาดได้ สำหรับพื้นที่ระบาด คิดเป็นร้อยละ 0.66 ของพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังทั้งประเทศ 8.43 ล้านไร่ และคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการดำเนินงานโครงการป้องกันและกำจัดโรคใบด่างมันสำปะหลัง เพื่อตัดวงจรการระบาดของโรคฯ ที่จะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและภาคอุตสาหกรรมมันสำปะหลังของประเทศไทยแล้ว
นายทวี มาสขาว รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยภายหลังการเปิดงานรณรงค์ (Kick Off) เพื่อป้องกันและกำจัดโรคใบด่างมันสำปะหลัง ณ ตำบลกุดโบสถ์ อำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2563 ว่า กรมส่งเสริมการเกษตร ได้มีมาตรการควบคุมโรคใบด่างมันสำปะหลัง อย่างต่อเนื่อง ทั้งเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ พร้อมช่วยเหลือเกษตรกรมาอย่างต่อเนื่อง สำหรับแผนการขับเคลื่อนการปราบใบด่างมันสำปะหลัง ได้ วางไว้ 4 แนวทาง สำรวจ ชี้เป้า ทำลาย และชดเชย ซึ่งจะต้องทำ โดยรัดกุม พร้อมทั้งปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการอย่างเคร่งครัด และการทำลาย จะต้องถูกต้อง ตามหลักวิชาการ ได้แก่ 1. วิธีฝังกลบ โดยฝังกลบต้นมันสำปะหลังที่เป็นโรค และต้นข้างเคียงโดยรอบ ในหลุมที่ลึกไม่น้อยกว่า 50 ซม. ราดด้วยสารกำจัดวัชพืช อะมีทรีน 80% WG ซัลเฟนทราโซน 48% SC ไดยูรอน 80% WP อย่างใดอย่างหนึ่งก่อน 2. วิธีใส่ถุง/กระสอบ โดยนำต้นมันสำปะหลังที่เป็นโรคตัดเป็นท่อนใส่ถุง / กระสอบมัดปากให้แน่นแล้วนำไปตากแดดไม่น้อยกว่า 7 วัน หรือจนกว่าต้นมันสำปะหลังจะตาย 3.ง วิธีบดสับ โดยนำต้นมันสำปะหลังที่เป็นโรคเข้าเครื่องบดป่นหรือเครื่องสับย่อย โดยปูพลาสติกรองพื้นให้เศษต้นที่ถูกทำลายอยู่บนพลาสติก แล้วคลุมกองด้วยพลาสติกตากแดดให้ต้นมันสำปะหลังแห้งตาย
ทั้งนี้ ขอย้ำให้เกษตรกร และสั่งการเจ้าหน้าที่ให้ทุกพื้นที่ ที่พบการระบาด รวมถึงพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง ไม่ใช้ท่อนพันธุ์ ที่เป็นโรคซ้ำ เด็ดขาด และขอความร่วมมือ เจ้าหน้าที่เกษตรกร สร้างการรับรู้ให้เกษตรกร เฝ้าระวัง และ หมั่นสำรวจแปลงอยู่เสมอ
สำหรับโรคใบด่างมันสำปะหลัง สาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัส Cassava mosaic virus ซึ่งเป็นโรคที่มีความสำคัญ หากระบาดรุนแรงอาจทำให้ผลผลิตเสียหายได้ถึง 100 เปอร์เซ็นต์