กรมส่งเสริมการเกษตร โดย สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 2 จังหวัดราชบุรี แถลงผลสำเร็จการขับเคลื่อนโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมะพร้าวอ่อนครบวงจร ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนมะพร้าวอ่อนน้ำหอมดอนมะโนรา ตำบลดอนมะโนรา อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม โดยมีนายมงคล จอมพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 2 นายณัฐภัทร์ เอมอ่อม นายอำเภอบางคนที นายอาคม ศรีประภาพงศ์ เกษตรจังหวัดสมุทรสงคราม และนายพงศกร โรจน์วิไลย ประธานโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมะพร้าวอ่อนครบวงจร ร่วมแถลง
นายมงคล จอมพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 2 จังหวัดราชบุรี เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการเกษตร ได้ขับเคลื่อนโครงการพัฒนางานส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่ ตั้งแต่ ปี 2562 เพื่อพัฒนากลุ่มเกษตรกร โดยมุ่งให้เกษตรกรรุ่นใหม่ มีบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชน และให้มีส่วนร่วมพร้อมกับชุมชนในทุกขั้นตอน โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดสมุทรสงคราม เป็นจังหวัด ต้นแบบในการดำเนินการ โดยเลือกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนมะพร้าวอ่อนน้ำหอมดอนมะโนรา อำเภอบางคนที ให้ชุมชนมีส่วนร่วมทุกขั้นตอน ตั้งแต่ร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ ร่วมวางแผน ร่วมลงมือทำ ร่วมรับผล ขับเคลื่อนโดยเกษตรกรรุ่นใหม่ หรือ Young smart farmer เน้นกระบวนการโดยวิเคราะห์พื้นที่เป็นหลัก และทำงานแบบบูรณาการร่วมกันทั้งภาครัฐและภาคประชาชน ปัจจุบัน อำเภอบางคนที มีพื้นที่ปลูกมะพร้าวน้ำหอม 5,830ไร่ ผลผลิต 15,345 ตัน/ปี ผลผลิตร้อยละ 85 ส่งออกจำหน่ายต่างประเทศในลักษณะผลสด ราคาผลละ 22 บาท มีเพียงร้อยละ 15 ที่ใช้บริโภคภายในประเทศ สำหรับตำบลดอนมะโนรา มีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนมะพร้าวอ่อนน้ำหอม ที่มีศักยภาพในการผลิตส่งออกจำนวน 6,000 ตันต่อปีมูลค่าการส่งออกประมาณ 132 ล้านบาท ตลาดมะพร้าวน้ำหอมที่สำคัญได้แก่ จีน ฮ่องกง ไต้หวัน ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ตามลำดับ
สำหรับการขับเคลื่อนการดำเนินการ สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการ ที่ 2 จ.ราชบุรี ได้ร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัดสมุทรสงคราม และสำนักงานเกษตรอำเภอบางคนที ในการวิเคราะห์ข้อมูลของพื้นที่พร้อมจัดทำเวทีชุมชน ให้เกษตรกรชาวสวน รวมถึงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ได้เข้ามากำหนดรูปแบบวางแผนการบริหารจัดการ ในปี 2562 ที่ผ่านมาได้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมะพร้าวอ่อนน้ำหอม ผ่าน 6 กิจกรรม ได้แก่ การส่งเสริมประสิทธิภาพการผลิตมะพร้าวอ่อนน้ำหอม ผ่านการใช้ปุ๋ยสั่งตัดตามค่าวิเคราะห์ดิน, การบริหารจัดการศัตรูพืช เพื่อลดการใช้สารเคมี และให้มีการผลิตแตนเบียนบราคอน , จัดทำจุดเรียนรู้การผลิตมะพร้าวอ่อนน้ำหอมครบวงจร, ปรับเปลี่ยนพันธุ์มะพร้าวในพื้นที่ , ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรในชุมชน, การบริหารจัดการน้ำป้องกันปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำเข้าพื้นที่สวน
สำหรับปัจจุบันได้เชื่อมโยงกลุ่มผู้ผลิตกับตลาด ตามนโยบาย “การตลาดนำการเกษตร” เกิดการพัฒนาคุณภาพและเพิ่มปริมาณผลผลิตมะพร้าวอ่อนน้ำหอมให้เพียงพอกับความต้องการของตลาด กลุ่มเกษตรกร สามารถขับเคลื่อนงานได้จากการบริหารจัดการได้โดยคนในชุมชน และยังสามารถจัดทำกองทุนหมุนเวียนเพื่อดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง เสริมสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรและชุมชนฐานรากให้มีความมั่นคง เกิดความยั่งยืนในอาชีพ” นายมงคล กล่าว