กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ร่วมตำรวจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจค้นบ้านพัก 10 จุด ตัดตอนขบวนการอุ้มบุญข้ามชาติ พร้อมฟัน 2 ข้อหาหนัก ฐานรับจ้างอุ้มบุญ และทำตัวเป็นนายหน้าชี้ช่องหญิงไทยไปรับจ้างอุ้มบุญในต่างแดน
วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2563 ณ กองบังคับการตำรวจมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ 904 นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ด้วยกรม สบส.ได้รับเบาะแสว่ามีผู้ลักลอบใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ หรือที่เรียกกันจนติดปากว่า “อุ้มบุญ” โดยไม่ได้รับอนุญาต ตนจึงสั่งการให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของกรม สบส.เร่งประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กองบังคับการตำรวจมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ 904 กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ (ปคม.) สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริงและนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมาย โดยในช่วงเช้าวันนี้ทั้ง 3 หน่วยงานได้ร่วมกันเข้าตรวจสอบบ้านพัก 10 จุด จับกุมผู้ต้องหาได้ 9 ราย พบอยู่ระหว่างตั้งครรภ์ 7 ราย โดยจากการสอบสวนในเบื้องต้นพบว่าหญิงตั้งครรภ์ทั้ง 7 ราย ได้รับการว่าจ้างจากนายทุนจากประเทศจีนให้ไปรับบริการอุ้มบุญกับสถานพยาบาลแห่งหนึ่ง ณ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว หรือราชอาณาจักรกัมพูชา หลังจากนั้นจึงกลับมาพักฟื้นที่ประเทศไทยเพื่อรอคลอดบุตร ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดทั้งกฎหมาย มนุษยธรรม และศีลธรรมอันดี พนักงานเจ้าหน้าที่จึงแจ้งข้อหาการกระทำผิดเบื้องต้น ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ.2558 ใน 2 ข้อหา ประกอบด้วย 1) ดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทนเพื่อประโยชน์ทางการค้าตามมาตรา 24 มีอัตราโทษ 48 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท และ 2) กระทำการเป็นคนกลาง นายหน้า โดยเรียก รับ หรือยอมรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด เพื่อเป็นการตอบแทนในการรับตั้งครรภ์แทนตามมาตรา 27 มีอัตราโทษตามมาตรา 49 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ก่อนส่งข้อมูลให้พนักงานสอบสวน ปคม.ดำเนินการสืบสวนขยายผลหาผู้ร่วมขบวนการมาลงโทษตามกฎหมายต่อไป
กรณีที่หญิงทั้ง 7 ราย เดินทางไปรับบริการอุ้มบุญในประเทศที่ไม่มีกฎหมายควบคุมกำกับการให้บริการเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ นับว่ามีความเสี่ยงในหลากหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นในด้านสุขภาพ หรือสิทธิมนุษยชน ด้วยการที่ไม่มีกฎหมายเฉพาะย่อมทำให้ไม่มีข้อกำหนดในการดูแลสุขภาพของหญิงตั้งครรภ์ และเด็กเมื่อเกิดการเจ็บป่วย อีกทั้งมิได้มีกฎหมายกำหนดความเป็นบิดาและมารดาของเด็กอย่างชัดเจน เมื่อเด็กที่คลอดออกมามีความพิการก็อาจจะทำให้เกิดการทอดทิ้งเด็กได้ จึงขอย้ำเตือนกับผู้ที่มีความคิดจะรับจ้างอุ้มบุญให้คิดเสียใหม่ อย่าได้นำอามิสสินจ้างเพียงเล็กน้อยมาแลกกับสุขภาพร่างกายของตน หรืออนาคตของเด็ก
นายแพทย์ธเรศ กล่าวต่อว่า หากคู่สมรสต้องการมีบุตร โดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์นั้น จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ.2558 อย่างเคร่งครัด โดยให้คู่สมรสยื่นเรื่องขออนุญาตให้มีการตั้งครรภ์แทนเป็นรายคู่จากคณะกรรมการคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ (กคทพ.) ซึ่งผู้มีสิทธิ์ขออนุญาตจะต้องเป็นคู่สมรสไทยที่สมรสถูกต้องตามกฎหมาย หรือคนไทยที่สมรสกับต่างชาติและจดทะเบียนสมรสมาแล้วอย่างน้อย 3 ปีเท่านั้น หากพบว่าผู้ใดไม่ปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดกรม สบส.จะดำเนินการตามกฎหมายโดยไม่มีการละเว้นแต่อย่างใด
********************** 13 กุมภาพันธ์ 2563