นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2563 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้จัดงานมอบรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2563 สำนักเทคโนโลยีชีวภาพการผลิตปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ โดยมี ดร. สายัณห์ บัวบาน หัวหน้ากลุ่มวิจัยและประเมินพันธุกรรมสัตว์ เข้ารับรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปีงบประมาณ 2563 รางวัลระดับดีเด่น เรื่อง โคนมพันธุ์ทรอปิคอล โฮลสไตน์ ณ ศูนย์แสดงนิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ
อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โคนมพันธุ์ทรอปิคอล โฮลสไตน์ ( TH ) เป็นพันธุ์โคนมไทยที่วิจัยและพัฒนามาอย่างต่อเนื่องยาวนานเกือบ 30 ปี จากความร่วมมือของหน่วยงาน ในสำนักเทคโนโลยีชีวภาพการผลิตปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ และเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม ดำเนินการพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ ด้วยแผนการผสมข้ามสายพันธุ์ ในระบบฝูงเปิด ระหว่างพ่อโคนม พันธุ์โฮลสไตน์ ฟรีเชี่ยน (HF) ซึ่งเป็นโคนมที่มีแหล่งกำเนิดจากประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ที่ให้ผลผลิตน้ำนมสูงกับแม่โคพันธุ์ พื้นเมืองหรือลูกผสมบราห์มันพื้นเมือง ที่มีคุณสมบัติความสมบูรณ์พันธุ์สูง หากินเก่ง ทนร้อน ทนโรคแมลง โดยการผสมเทียม เพิ่มระดับเลือดโฮลสไตน์ฟรีเชี่ยน ( Up grading ) จนมีสายเลือด 87.5% HF – 93.75% HF แล้วคัดเลือกประชากรที่เกิดขึ้น ผสมกันเอง (Inter se) จนกระทั่งมีความคงที่ของลักษณะเป็นพันธุ์แท้ พร้อมทั้งพัฒนาเครื่องมือที่ช่วยในการคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์สำหรับผลิตลูกโคเพศผู้ หนุ่มและแม่โคสาวทดแทนในรุ่นต่อ ๆ มาให้มีความถูกต้องแม่นยำยิ่งขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งรูปแบบโมเดล และวิธีการทางสถิติ จนถึงการคัดเลือกด้วย พันธุกรรมจีโนม (Genomic estimated breeding value , GEBV) ในปัจจุบัน
กรมปศุสัตว์ ได้มอบนโยบายให้สำนักเทคโนโลยีชีวภาพการผลิตปศุสัตว์ ดำเนินการผลิตน้ำเชื้อแช่แข็งพ่อพันธุ์โคนมพันธุ์ทรอปิคอล โฮลสไตน์ ให้บริการผสมเทียมปรับปรุงพันธุ์แม่โคนมของเกษตรกรทั่วประเทศ ซึ่งช่วยลดการสูญเสียเงินตราจากการนำเข้าน้ำเชื้อแช่แข็ง ปีละ ไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท และยังก่อให้เกิดประโยชน์ ต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและประเทศไทยในด้านต่างๆ มากมาย ทั้งด้านความปลอดภัย (Safety) ได้แก่ ปลอดโรคทางพันธุกรรม ปลอดโรคติดต่อทางระบบสืบพันธุ์ ไม่นำโรคใหม่ๆเข้าประเทศ ด้านความมั่นคง (Security) ได้แก่ ความมั่นคงทางอาหาร ทางอาชีพ และทางเศรษฐกิจ ด้านความยั่งยืน (Sustainable) ได้แก่ ความยั่งยืนในอาชีพการเลี้ยงโคนม เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และด้านความรับผิดชอบทางสังคม (Social responsibility) คือ ไม่ต้องย้ายถิ่นฐาน อาชีพเกษตรกรรมอื่นๆ มีรายได้เพิ่มขึ้น เกิดธุรกิจสหกรณ์โคนม และการแปรรูปผลิตภัณฑ์นม ซึ่งเกษตรกรสามารถขอรับบริการผสมเทียม ด้วยน้ำเชื้อพ่อพันธุ์โคนม ทรอปิคอล โฮลสไตน์ ได้ที่หน่วยผสมเทียมกรมปศุสัตว์ ทั่วประเทศ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวในที่สุด
ข้อมูล/ข่าว : สำนักเทคโนโลยีชีวภาพการผลิตปศุสัตว์