กรมชลประทาน เร่งให้ความช่วยเหลือพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค โดยวางแผนจัดสรรน้ำจากเขื่อนจุฬาภรณ์ และเขื่อนห้วยกุ่ม ลงแม่น้ำพรม-เชิญ เพื่อเติมน้ำดิบช่วยประปาอำเภอภูเขียว อำเภอเกษตรสมบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิ และประปาอำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น พร้อมส่งเครื่องสูบน้ำช่วยเหลือพื้นที่ขาดแคลนน้ำ รณรงค์ทุกภาคส่วนใช้น้ำตามแผนอย่างเคร่งครัด
ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานได้สั่งการให้โครงการชลประทานทั่วประเทศ ให้การช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ที่มีแนวโน้มหรือกำลังประสบกับปัญหาการขาดแคลนน้ำอย่างเร่งด่วน โดยในขณะนี้สำนักงานชลประทานที่ 6 ได้ให้การช่วยเหลือพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำในพื้นที่รับผิดชอบทั้ง 5 จังหวัดด้วยการสนับสนุนเครื่องสูบน้ำช่วยเหลือการอุปโภคบริโภคจำนวน 52 เครื่อง และยังได้เตรียมเครื่องสูบน้ำไว้อีก 148 เครื่อง รถบรรทุกน้ำ 9 คัน และเครื่องจักรเครื่องมือต่างๆ พร้อมเข้าช่วยเหลือได้ทันที
สำหรับสถานการณ์น้ำในจังหวัดชัยภูมิ ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 1 แห่ง ได้แก่ เขื่อนจุฬาภรณ์ ปัจจุบัน (12 ก.พ. 63) มีปริมาณน้ำเก็บกักประมาณ 42 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 25 ของความจุอ่าง เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 5 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 4 ของความจุอ่าง อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง จำนวน 9 แห่ง มีปริมาณน้ำเก็บกักประมาณ 34 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 36 ของความจุอ่าง เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 28 ล้าน ลบ.ม. พบว่ามีอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่าร้อยละ 30 ของความจุอ่าง อยู่จำนวน 7 แห่ง
ขณะนี้จังหวัดชัยภูมิได้ประกาศเขตพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งแล้ว จำนวน 16 อำเภอ 1,645 หมู่บ้าน สำหรับพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำดิบสำหรับการผลิตประปามี 2 สาขา ได้แก่ การประป่าส่วนภูมิภาคสาขาภูเขียว และการประปาส่วนภูมิภาคสาขาเกษตรสมบูรณ์ กรมชลประทาน จึงวางแผนจัดสรรน้ำจากเขื่อนจุฬาภรณ์ และเขื่อนห้วยกุ่ม ลงแม่น้ำพรม-เชิญ เพื่อเติมน้ำดิบสำหรับผลิตน้ำประปา
ทั้งนี้ นอกจากเร่งให้ความช่วยเหลือพื้นที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำแล้ว ยังเน้นย้ำให้โครงการชลประทานทุกพื้นที่ ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ทำความเข้าใจ และขอความร่วมมือพี่น้องประชาชน ลดการสูบน้ำไปใช้ในกิจกรรมอื่น เนื่องจากมีปริมาณน้ำที่จำกัดสำหรับใช้ในการอุปโภคบริโภคเท่านั้น พร้อมทั้งขอความร่วมมือทุกภาคส่วนตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรน้ำ ใช้น้ำอย่างประหยัด ปฏิบัติตามแผนการจัดสรรน้ำที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด เพื่อให้มีน้ำเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภคตลอดฤดูแล้งนี้ไปจนถึงต้นฤดูฝนอย่างไม่ขาดแคลน
ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์