สธ. ร่วมกับ กต. หารือกับผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทยและเครือข่ายนานาชาติเตรียมพร้อมรับมือโรคไวรัสโคโรนา 19 ระดับนานาชาติ

กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) นำเสนอการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคไวรัสโคโรนา 19 พร้อมหารือร่วมกับผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทยและหน่วยงานระหว่างประเทศ เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับโรคไวรัสโคโรนา 19 และร่วมกันส่งเสริมให้เกิดความมั่นคงทางสุขภาพของทุกประเทศทั่วโลก

วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2563 ที่กรมควบคุมโรค นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข มอบหมายให้นายแพทย์สมบัติ แทนประเสริฐสุข นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค ร่วมกับนายณัฐวัฒน์กฤษณามระ อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานในการประชุมหารือความร่วมมือและเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์โรคไวรัสโคโรนา 19 ที่แพร่ไปในหลายประเทศ โดยมีผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทยจาก 62 ประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศและหน่วยงานเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง อาทิ องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐ ด้านสาธารณสุข กรมการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ รวม 20 หน่วยงานเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้

นายแพทย์สมบัติ กล่าวว่า การระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 19 ตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม 2562 เป็นต้นมา และแพร่กระจายไปยังประเทศต่าง ๆ รวมถึงประเทศไทยด้วย ซึ่งประเทศไทยได้ดำเนินการมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคอย่างเข้มข้นตั้งแต่ในช่วงต้น ๆ ของการระบาดในต่างประเทศ โดยโรคนี้เป็นโรคที่เกิดขึ้นใหม่ ทำให้ยังขาดความชัดเจน

ในหลายด้าน โดยเฉพาะองค์ความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติของโรค ดังนั้น การบรรเทาผลกระทบของการระบาดจึงต้องอาศัยการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน ทั้งรัฐบาล ประชาชน เอกชน ซึ่งรวมถึงเครือข่ายต่าง ๆ ทั้งในและระหว่างประเทศ เพื่อรับมือและแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินทางสาธารณสุขนี้อย่างใกล้ชิด โดยสถานการณ์ล่าสุดของโรคไวรัสโคโรนา 19 ณ วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2563 ประเทศไทยมีผู้ป่วยยืนยัน 33 ราย รักษาหายกลับบ้านแล้ว 11 ราย รักษาในโรงพยาบาล 22 ราย และมีผู้ป่วยที่มีอาการตามนิยามเฝ้าระวังโรคและเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจำนวนหนึ่ง ผลทางห้องปฏิบัติการพบว่าผู้ป่วยตามนิยามฯ ส่วนใหญ่ป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ให้การรักษาจนหายและอนุญาตให้กลับบ้านแล้ว

นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป ในฐานะผู้บัญชาการของศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กล่าวถึงกลไกป้องกันและควบคุมการระบาดของประเทศไทยครอบคลุมทั่วประเทศว่า มีการตั้งคณะกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (ที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย) เป็นประธาน และบังคับใช้พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 เพื่อให้เปิดศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขในทุกระดับ (ระดับชาติ กระทรวง และจังหวัด) เพื่อ (1) ติดตามวิเคราะห์สถานการณ์และการตรวจคัดกรองผู้เดินทางในทุกช่องทางเข้า-ออกประเทศ รวมทั้งการเฝ้าระวังโรคในโรงพยาบาลทุกแห่งและในชุมชน (2) ให้การรักษาพยาบาลผู้ป่วยที่โรงพยาบาลในห้องแยกโรค (3) ติดตามค้นหาและสังเกตอาการผู้สัมผัสเสี่ยงเป็นเวลา 14 วัน (4) สนับสนุนการตรวจทางห้องปฏิบัติการ (5) สนับสนุนวัสดุ อุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ (6) เพิ่มการศึกษา วิจัยพัฒนา (7) พัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง และ (8) สื่อสารความเสี่ยงแก่บุคคล หน่วยงาน หรือพื้นที่ที่เสี่ยง ทั้งหมดที่กล่าวข้างต้นจะสามารถทำให้ประเทศไทยลดความเสี่ยงจากการระบาดของโรคได้มากที่สุด

ด้านสัตวแพทย์หญิงเสาวพักตร์ ฮิ้นจ้อย ผู้อำนวยการสำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศ กล่าวเสริมว่า กรมควบคุมโรคได้จัดทำเว็บไซต์สำหรับประชาชนและผู้เกี่ยวข้อง 3 ภาษา (ไทย อังกฤษ จีน) เพื่อให้ข้อมูลต่างๆ เช่น สถานการณ์ ความรู้เรื่องโรค วิธีการป้องกัน สื่อมัลติมีเดีย รวมถึงรายงานสถานการณ์หรือข่าวเพื่อสื่อมวลชนที่กระทรวงสาธารณสุขได้นำเสนอต่อประชาชน สำหรับในการประชุมครั้งนี้ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย และผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้นำเสนอมาตรการควบคุมป้องกันโรคนี้ ผู้แทนของสถานเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย และองค์กรระหว่างประเทศ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซักถาม ให้ข้อเสนอแนะ และร่วมพัฒนากลไกการประสานความร่วมมือเพื่อให้สามารถควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 19 ให้เป็นผลสำเร็จ และร่วมกันส่งเสริมให้เกิดความมั่นคงทางสุขภาพของทุกประเทศทั่วโลก รวมถึงลดผลกระทบต่อประชาชน สังคม และเศรษฐกิจให้มากที่สุด

…………………………………………………..

ข้อมูลจาก: สำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศ กรมควบคุมโรค