กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พัฒนาต่อยอดการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม (whole genome sequencing) สู่ชุดตรวจวินิจฉัยเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ที่มีความแม่นยำ รวดเร็ว นำไปสู่ผลการตรวจที่ถูกต้อง และขยายขีดความสามารถสู่ห้องปฏิบัติการเครือข่ายทั่วประเทศ รู้ผลการตรวจรวดเร็ว สนับสนุนการควบคุมและป้องกันโรคภายในประเทศ โดยบริการตรวจคู่ขนานกับห้องปฏิบัติการของศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งใช้เทคนิคการตรวจที่ต่างกัน อีกทั้งร่วมมือกับองค์การอนามัยโลกด้วยการแบ่งปันข้อมูลและสนับสนุนการตรวจทางห้องปฏิบัติการแก่ประเทศเพื่อนบ้าน
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า จากเหตุการณ์แพร่ระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ในขณะนี้ ท่านรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ท่านอนุทิน ชาญวีรกูล ได้มอบนโยบายและสั่งการให้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการในภาวะฉุกเฉิน (EOC) ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขขึ้น เพื่อรับมือควบคุมการระบาดของเชื้อโรคนี้ และมอบให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ดูแลพัฒนาห้องปฏิบัติการให้สามารถตรวจวินิจฉัยโรคนี้ให้มีประสิทธิภาพ แม่นยำ รวดเร็ว เพื่อตอบสนองต่อการดูแลรักษาผู้ป่วยและการป้องกันควบคุมโรค องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศกฎอนามัยระหว่างประเทศ (IHR 2005 ) กำหนดให้ประเทศสมาชิกพัฒนาสมรรถนะของประเทศให้พร้อมรองรับโรคระบาดและสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขในการป้องกัน ตรวจจับและตอบสนองต่อการระบาด เพื่อหวังจะลดความเสี่ยงตลอดจน ความเสียหายจากการระบาดของโรคอุบัติใหม่ต่างๆ หนึ่งในสมรรถนะหลักที่สำคัญ ได้แก่ สมรรถนะด้านระบบห้องปฏิบัติการสาธารณสุข ซึ่งส่งผลให้สามารถตรวจจับโรคระบาดได้อย่างรวดเร็ว สามารถควบคุมและจัดการปัญหาได้ทันการณ์ เมื่อมีโรคอุบัติใหม่ระบาด ห้องปฏิบัติการมีหน้าที่สำคัญคือต้องพยายามตรวจพิสูจน์ให้ได้ว่าเชื้อโรคนั้นคือเชื้ออะไร จากนั้นจะต้องพัฒนาวิธีการตรวจชันสูตรทางห้องปฏิบัติการเพื่อมาใช้ในการตรวจชันสูตรผู้ป่วยจำนวนมากให้ได้อย่างรวดเร็ว และถ่ายทอดให้ห้องปฏิบัติการเครือข่ายนำไปใช้ประโยชน์เพื่อรองรับสถานการณ์หากพบผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งต้องเร่งวิจัยพัฒนาวัคซีนและยารักษาโรคขึ้นมาใช้ ภารกิจเหล่านี้จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือในระดับนานาชาติ องค์การอนามัยโลกได้เชิญชวน ให้ประเทศต่างๆ ร่วมมือกัน โดยแบ่งปันข้อมูลสำคัญเช่น ข้อมูลพันธุกรรมของเชื้อโรค วิธีการตรวจ ตลอดจนทรัพยากรชีวภาพเช่น เชื้อโรค เพื่อใช้ประโยชน์ในกิจกรรมที่สำคัญและเร่งด่วนเหล่านี้ ตลอดจนการให้ความช่วยเหลือการตรวจทางห้องปฏิบัติการแก่ประเทศที่ยังไม่พร้อม เพื่อให้สามารถควบคุมโรคได้ทันการณ์
นายแพทย์โอภาส กล่าวต่ออีกว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งมีหน้าที่เป็นห้องปฏิบัติการแห่งชาติด้านสาธารณสุขและเป็นห้องปฏิบัติการอ้างอิงไข้หวัดใหญ่ของภูมิภาค SEAR ได้ตรวจยืนยันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา โดยวิธีการตรวจรหัสพันธุกรรมตลอดทั้งจีโนม (whole genome sequencing) ภายใน 2 วัน หลังได้รับตัวอย่างผู้ป่วยรายแรก และได้แบ่งปันข้อมูลรหัสพันธุกรรมนี้กับเครือข่ายห้องปฏิบัติการอ้างอิงไข้หวัดใหญ่ผ่านศูนย์ข้อมูล GISAID เพื่อให้นานาชาติใช้ประโยชน์ในการพัฒนาวิธีตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการ ตลอดจนการวิจัยพัฒนาวัคซีนและยารักษาโรคขึ้นมาใช้อย่างเร่งด่วน เพื่อให้ควบคุมการระบาดได้อย่างทันการณ์ นอกจากนี้ยังได้ร่วมมือกับองค์การอนามัยโลกให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคที่ยังอยู่ระหว่างการพัฒนาความพร้อม โดยให้ความช่วยเหลือในการตรวจทางห้องปฏิบัติการ หรือการสนับสนุนน้ำยาตรวจวิเคราะห์ ทั้งนี้ด้วยตระหนักในความจริงที่ว่าโรคติดต่อนั้นไร้พรมแดน การให้ความช่วยเหลือมิตรประเทศเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยเสริมภูมิให้แก่ภูมิภาคในการจัดการการระบาดครั้งนี้
“ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับตัวชี้วัดความมั่นคงด้านสุขภาพให้มีความพร้อมในลำดับ 6 ของโลก โดยมีคะแนนสมรรถนะด้านระบบห้องปฏิบัติการเต็ม 100 สมรรถนะระบบห้องปฏิบัติการของประเทศ หมายความรวมตั้งแต่เครือข่ายห้องปฏิบัติการในโรงพยาบาลระดับอำเภอ จังหวัด และระดับประเทศ เครือข่ายห้องปฏิบัติการอ้างอิง ขีดความสามารถการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ระบบการส่งต่อตัวอย่างตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อสอบสวนโรคและการยืนยันทั้งในระดับชาติและนานาชาติ” นายแพทย์โอภาส กล่าว
………………………