ใกล้เข้ามาอีกแล้วกับประเพณีสงกรานต์ หรือชาวต่างชาติมักจะเรียกว่า Water Festival ประเพณีสำคัญที่สืบต่อกันมาอย่างยาวนาน ….13 เมษายน มิได้ถือว่าเป็นวันปีใหม่ของไทยอย่างเดียวเท่านั้น ยังรวมไปถึงประเทศเพื่อนบ้านอย่าง ลาว กัมพูชา และพม่าที่มีเทศกาลนี้เหมือนกับชาวไทยเช่นเดียวกัน
หลายท่านคงเคยได้ยินคำว่า “สงกรานต์พระประแดง” งานประเพณีสงกรานต์พระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เป็น 1 ในงานเทศกาลมหาสงกรานต์ 4 ภาคของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โดยแต่เดิมเรียกกันว่า งานสงกรานต์ปากลัด เป็นวัฒนธรรมประเพณีพื้นบ้านที่ชาวไทยรามัญได้ยึดถือปฏิบัติสืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 แห่งราชวงศ์จักรี
ตามประเพณีเมื่อถึงวันสงกรานต์ชาวบ้านจะแต่งกายชุดไทยรามัญไปทำบุญตามวัดต่าง ๆ และมีการปล่อยนก ปล่อยปลา เพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์ ต่อดวงชะตา เสริมสร้างความเป็นสิริมงคลต่อตนเองและครอบครัว เมื่อถึงเวลากลางคืนจะมีการเล่นสะบ้าตามบ้านเรือนต่าง ๆ ซึ่งชาวพระประแดงยึดถือปฏิบัติสืบทอดต่อกันมาตั้งแต่โบราณกาล
เมืองพระประแดง หรือเมืองนครเขื่อนขันธ์ หรือที่ชาวมอญเรียกว่าเมืองปากลัด เป็นเมืองเก่าแก่ มีประเพณีและศิลปวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ เนื่องจากมีพื้นที่เสมือนเมืองหน้าด่านของประเทศไทย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้ทรงสร้างเมืองนครเขื่อนขันธ์ และได้ย้ายครอบครัวมอญที่อพยพเข้ามาในประเทศไทย และมาอาศัยอยู่ที่เมืองสามโคก จังหวัดปทุมธานี มาตั้งหลักปักฐานอยู่ที่นี่
สงกรานต์พระประแดง จะเริ่มขึ้นหลังจากงานสงกรานต์ปกติในช่วงวันที่ 13 – 15 เมษายน โดยสงกรานต์พระประแดงจะจัดขึ้นหลังจากนั้นประมาณ 1 สัปดาห์ โดยจะจัดในช่วง วันหยุดเสาร์ – อาทิตย์ เมื่อย่างเข้าเดือนเมษายน ชาวพระประแดงจะเริ่มทำความสะอาดบ้านเรือนและสภาพแวดล้อมโดยรอบ พอใกล้จะถึงวันสงกรานต์ แต่ละบ้านก็จะชวนกันกวน ขนม ที่เรียกว่า “กาละแม” หรือบางบ้านก็ทำขนมข้าวเหนียวแดง จัดเตรียมไว้เพื่อไปทำบุญ และแจกจ่ายญาติสนิทมิตรสหาย หากมีโอกาสได้เข้าไปเที่ยวในหมู่บ้านชุมชนชาวไทยรามัญ หรือหมู่บ้านมอญ จะพบว่าชาวมอญเตรียมสร้างศาลเพียงตาไว้รอรับเทศกาลนี้ด้วย โดยเมื่อถึงเทศกาลสงกรานต์ เจ้าบ้านจะนำอาหารใส่กระทงตั้งไว้บนศาลพร้อมด้วยข้าวแช่ เป็นการสักการะพระพุทธคุณ ธรรมคุณ และสังฆคุณ ตลอดจนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งปวงตามประเพณีการส่งข้าวสงกรานต์
นอกจากการร่วมแรงร่วมใจกันทำขนมตามธรรมเนียมประเพณีแล้ว ในช่วงเวลากลางคืนในชุมชนหมู่บ้านชาวไทยรามัญยังมีบ่อนสะบ้า บ่อนสะบ้า ในที่นี้มิใช่การพนันเอาทรัพย์สินอย่างใดเป็นการละเล่นพื้นเมืองสาว ๆ ชาวบ้านตามหมู่บ้านต่าง ๆ รวมกลุ่มกันตั้งบ่อนสะบ้า ส่วนมากอยู่ตามใต้ถุนเรือนชั้นเดียวและมีสาวงามอยู่ประจำทุกบ่อน
ก่อนเล่นต้องปรับดินให้เรียบเสียก่อน โดยใช้น้ำรดหมาด ๆ แล้วเอาตะลุมพุกสำหรับตำข้าวทุบดินให้แน่นต่อจากนั้นใช้ขวดกลึงให้เรียบความกว้างยาวของบ่อนขึ้นอยู่กับเนื้อที่ของใต้ถุนบ้าน ด้านหัวบ่อนใช้กระดานหนา ๆ มาตั้งโดยเอาสันลง ด้านหลังกระดานนี้มีม้ายาวตั้งอยู่หลายตัวเป็นที่นั่งของผู้เล่น กระดานนี้มีห้าที่รับลูกสะบ้าที่ผู้เล่นอีกฝ่ายทอยมากระทบไว้มิให้ลูกสะบ้ากระเด็นไปและป้องกันเท้าของผู้นั่งมิให้ถูกสะบ้าที่ทอยมา มีการประดับประดากระดาษสายรุ้งสีต่าง ๆ และปักธงเสาเรือนรอบ ๆ บ่อนสะบ้านั้นทุกบ่อนมีผู้หญิงสูงอายุเป็นหัวหน้าบ่อนและดูแลเป็นพี่เลี้ยงสาว ๆ ประจำบ่อน บ่อนสะบ้าเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีผู้เล่นทั้งฝ่ายชายและหญิงประมาณ 8 คน อย่างมากไม่เกิน 15 คน หญิงสาวแต่งตัวแบบสมัยโบราณอย่างสวยงาม
วิธีเล่นสะบ้าฝ่ายหญิงเป็นผู้ตั้งลูกสะบ้า เรียกว่า “จู” ให้ฝ่ายชายเริ่มเล่นก่อน ฝ่ายชายนั่งที่ม้านั่งตรงข้ามกับฝ่ายหญิง หัวหน้าฝ่ายชายเริ่มเล่นก่อนโดยเล่นท่าไหน คนต่อ ๆ ไปเล่นท่าเดียวกันนั้นจนครบทุกคน กติกาการเล่นสะบ้าแตกต่างกันไปบ้างแล้วแต่หมู่บ้าน แต่ละท่าต้องเล่นให้ถูกคู่ของตนหากถูกสะบ้าที่ไม่ใช่คู่ของตนถือว่าเสีย “อุย” ต้องเปลี่ยนให้ฝ่ายตั้งรับกลับมาเล่นบ้างช่วงนี้ฝ่ายชายและหญิงจะได้คุยกัน การเล่นสะบ้าอาจจะเล่นไปจนสว่างหรือค่อนรุ่งแต่ต้องได้รับอนุญาตจากผู้ควบคุมบ่อน ฝ่ายแพ้จะถูกปรับหรือรำให้ดู ท่าเล่นประกอบด้วยชื่อต่าง ๆ คือ ทิ่นเติง เป็นท่าแรกผู้เล่นนำลูกสะบ้าวางบนหลังเท้าแล้วโยนไปข้างหน้าแล้วดีดลูกสะบ้าไปถูกคู่ของตน ท่าต่อไป ได้แก่ จั้งฮะอยู่, อีเร็ด, ฮะเนิดเบา, ฮะเนิดป๊อย, อีโช, อีเกน, อีมายมับ, ตองเก้ม, มายฮะเกริ้น, มายโล่น, อะลองเดิง เป็นต้น ทั้งหมดมีประมาณ 12- 20 บท
นอกจากนี้ตามบ่อนสะบ้าจะมีขนม “กวันฮะกอ” หรือ “กาละแม” เตรียมไว้แจกจ่ายให้คนที่มาร่วมงานรับประทานกันด้วย และมีการร้องเพลงทะแยมอญกล่อมบ่อน การเล่นทะแยมอญคล้ายเพลงฉ่อยหรือลำตัดเป็นร้อยกรองชนิดหนึ่งคล้ายกับกลอนร่ายของไทยประเภทเพลง เนื้อร้องใช้ภาษามอญเป็นบทไหว้ครู ชมนกชมไม้ เกี้ยวพาราสี ให้ศีลให้พร สำหรับผู้ใหญ่ฝ่ายชายใช้เพลงเจื้อกมั่ว ฝ่ายหญิงใช้เพลงโป้ดแซ่ เครื่องดนตรีประกอบการแสดงมี 5 ชนิด คือ ซอสามสาย (มอญ) จะเข้ ขลุ่ย เปิงมาง ฉิ่ง การแต่งกายชุดรามัญ (ชายชุดลอยชาย หญิงชุดมอญ) ตามวิถีชีวิตของชาวไทยเชื้อสายรามัญ (มอญ)
ไม่ใช่เพียงการทำขนม หรือการเล่นสะบ้าบ่อนเท่านั้น แต่สิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับประเพณีสงกรานต์พระประแดงคือ การแห่นางสงกรานต์นำขบวนสาวรามัญ – หนุ่มลอยชายจากหมู่บ้านต่าง ๆ เพื่อแห่นก – แห่ปลาไปทำพิธีปล่อยนก – ปล่อยปลา ณ พระอารามหลวงวัดโปรดเกศเชษฐาราม ซึ่งถือเป็นการสะเดาะเคราะห์ทำให้อายุยืนยาว เมื่อเสร็จสิ้นพิธีแล้วระหว่างเดินทางกลับบ้านก็จะมีหนุ่มในหมู่บ้านต่าง ๆ ออกมาเล่นสาดน้ำกัน
ปัจจุบันประเพณีสงกรานต์พระประแดงไม่ใช่มีแต่เพียงคนในพื้นที่ หรือชาวพระประแดงเท่านั้น
แต่ยังได้รับความนิยมจากผู้คนทั่วสารทิศมาร่วมสืบสานประเพณีดังกล่าว
แม้แต่ชาวต่างชาติเองก็ให้ความสนใจในงานประเพณีไม่น้อย…
ดังนั้นหากท่านใดยังไม่เคยได้สัมผัส…
ควรหาโอกาสสักครั้ง ที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการสืบสานวัฒนธรรมนี้สืบต่อไป
ขอบคุณภาพประกอบจาก Google