นายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากผลกระทบภัยพิบัติ อุทกภัยและภัยแล้งที่เกิดขึ้นอย่างซ้ำซาก ได้ส่งผลกระทบให้เกษตรกรไม่สามารถทำการเกษตรได้ตามปกติ ผลผลิตทางการเกษตรได้รับความเสียหายและได้รับผลกระทบด้านราคาตกต่ำจากคุณภาพผลผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน เกษตรกรสูญเสียรายได้ ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการยังชีพ รัฐบาล และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงมีนโยบายจัดทำโครงการเกษตรสร้างชาติ ภายใต้บันทึกความเข้าใจ (MOU) โครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการส่งเสริมทางการเลี้ยงสัตว์ และกิจการที่เกี่ยวเนื่อง ระหว่าง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย กรมปศุสัตว์ ร่วมกับ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถภาคเกษตรกรรมของไทย ฟื้นฟูอาชีพแก่เกษตรกร บรรเทา ความเดือดร้อนเสียหายอันเนื่องมาจากภัยพิบัติ ภัยธรรมชาติ และผลกระทบจากราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำ พร้อมทั้งสนับสนุนการจัดการตลาดผลิตผลการเกษตร
นายวิวัฒน์ ไชยชะอุ่ม ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ความก้าวหน้าของ โครงการเกษตรสร้างชาติ ซึ่งมีเจตนารมณ์ในการส่งเสริมการผลิตด้านการเกษตร ทั้งด้านพืช ปศุสัตว์ และประมง และกิจการที่เกี่ยวเนื่อง โดยการสร้างโอกาสให้เกษตรกรได้เข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 พ.ย.62 และมติคณะกรรมการ ธ.ก.ส.เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 62 เห็นชอบให้ ธ.ก.ส. ดำเนินโครงการสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย วงเงินสินเชื่อ 50,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 ต่อปี ระยะเวลา 3 ปี โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ ธ.ก.ส. ในอัตราร้อยละ 3.50 ต่อปี นับแต่วันกู้ ไม่เกินวันที่ 30 พ.ย.68 โดยมีเป้าหมายหลัก เพื่อสร้างกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง สถาบันการเงินประชาชน สถาบันการเงินชุมชน สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจเพื่อสังคม และผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร
ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์มีการดำเนินการส่งเสริมด้านการตลาดและการพัฒนาผลผลิตสัตว์เศรษฐกิจทุกชนิด อาทิโคเนื้อ กระบือ แพะ ไก่พื้นเมือง เป็ดเทศ สุกร เป็นต้น โดยส่วนของการขับเคลื่อนโครงการดังกล่าว กรมปศุสัตว์ ดำเนินการประชุมชี้แจงผู้บริหารกรมปศุสัตว์และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ ร่วมกับ ธ.ก.ส. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2562 โดยมีเป้าหมายดำเนินการลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์ (Kick off ) ทั่วประเทศ โดยในช่วงเดือน มกราคม 2563 ที่ผ่านมาได้ดำเนินการ Kick off ในหลายพื้นที่ อาทิ จังหวัดขอนแก่น สุพรรณบุรี เชียงใหม่ นครปฐม นครศรีธรรมราช และพัทลุงเป็นต้น ขณะนี้จังหวัดต่าง ๆ อยู่ในช่วงเสนอคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการฯ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดลงนาม
สำหรับส่วนกลางอยู่ระหว่างการทวนสอบคู่มือการปฏิบัติงานร่วมกับ ธ.ก.ส. คาดว่าจะแล้วเสร็จและส่งให้ผู้ปฏิบัติงานใช้เป็นคู่มือในการปฏิบัติงานได้ภายในไม่เกิน 1 สัปดาห์ต่อจากนี้ โดยตามโครงการกำหนดกระบวนงานไว้ทั้งหมด 5 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนที่ 1. ประชาสัมพันธ์/ค้นหากลุ่มเป้าหมาย ขั้นตอนที่ 2 จัดทำแผนชุมชน/แผนธุรกิจ ขั้นตอนที่ 3 สมัครเข้าร่วมโครงการ ขั้นตอนที่ 4 ติดต่อขอสินเชื่อ และขั้นตอนที่ 5 ดำเนินการโครงการ ซึ่งการดำเนินกระบวนงานในขั้นตอนที่ 1, 2 และ 3 ได้กำหนดไว้ในช่วงเดือนมกราคม ถึงกุมภาพันธ์ 2563 และคาดว่าจะสามารถขอรับการสนับสนุนสินเชื่อและจ่ายสินเชื่อได้ตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2563 เป็นต้นไป เชื่อมั่นว่าโครงการนี้จะช่วยส่งเสริมเกษตรกรรายย่อยให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน ฟื้นฟูอาชีพเกษตรกรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ภายใต้นโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่มุ่งเน้นให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชน ให้สามารถประกอบอาชีพและสร้างรายได้อย่างยั่งยืน