ชป.เผยน้ำใช้การได้มีน้อย ย้ำ..ใช้น้ำตามแผนฯ เหลืออีกกว่า 3 เดือน กว่าจะเข้าฤดูฝน

กรมชลประทาน วอนน้ำใช้การได้ทั่วประเทศอยู่ในเกณฑ์น้อย เหลือระยะเวลาอีกกว่า 3 เดือน กว่าจะเข้าสู่ฤดูฝน ด้านกรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่าประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูฝนช่วงปลายเดือนพฤษภาคม ช้ากว่าปกติเล็กน้อย จำเป็นต้องเข้มงวดการบริหารจัดการน้ำให้เป็นไปตามแผนอย่างเคร่งครัด วอนทุกฝ่ายใช้น้ำอย่างประหยัด จับมือกันก้าวผ่านแล้งนี้ไปให้ได้

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึง สถานการณ์น้ำใน 35 เขื่อนใหญ่ทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 41,660 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 59 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมประมาณ 18,253 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 39 ของปริมาณน้ำใช้การได้ เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล  เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 10,395 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 42 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 3,699 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 20 ของปริมาณน้ำใช้การได้ คงการระบายน้ำรวมกันประมาณวันละ 18 ล้าน ลบ.ม. สำหรับใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ และไม้ผลไม้ยืนต้นเท่านั้น

สำหรับแผนการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2562/63 ( 1 พ.ย. 62 – 30 เม.ย. 63) เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำในเขตชลประทาน มีการจัดสรรน้ำจากอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 17,699 ล้าน ลบ.ม.(น้อยกว่าปีที่แล้วประมาณ 7,000 ล้าน ลบ.ม.) เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก มีการจัดสรรน้ำรวมทั้งสิ้น 4,000 ล้าน ลบ.ม.(น้อยกว่าปีที่แล้ว 3,700 ล้าน ลบ.ม.) ผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งทั้งประเทศ ล่าสุด(3 ก.พ. 63) มีการนำน้ำไปใช้แล้ว 8,404 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 47 ของแผนจัดสรรน้ำฯ เฉพาะในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำตามแผนฯไปแล้วประมาณ 2,440 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 61 ของแผนจัดสรรน้ำฯ

ในส่วนของแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 2562 ได้วางแผนเพาะปลูกพืชทั้งประเทศ รวมทั้งสิ้น 2.83 ล้านไร่ แบ่งเป็น ข้าวนาปรัง 2.31 ล้านไร่ พืชไร่-พืชผัก 0.52 ล้านไร่ ปัจจุบัน(ข้อมูล ณ วันที่ 29 ม.ค. 62) ทั้งประเทศมีการเพาะปลูกรวม 3.61 ล้านไร่ เกินแผนที่วางไว้ร้อยละ 27 แยกเป็นข้าวนาปรัง 3.32 ล้านไร่ เกินแผนไปร้อยละ 43 และพืชไร่-พืชผัก 0.29 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 55 ของแผนฯ จะเห็นได้ว่าการเพาะปลูกรวมทั้งประเทศเกินแผนไปแล้วโดยเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาไม่มีแผนการเพาะปลูกพืช เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนมีไม่เพียงพอที่จะสนับสนุน แต่จากการสำรวจพบว่าบางพื้นที่ได้ทำการเพาะปลูกพืชนอกแผนฯ รวมเป็นพื้นที่ประมาณ 1.89 ล้านไร่ ส่วนใหญ่ใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่ของตนเองในการเพาะปลูก

ทั้งนี้ การบริหารจัดการน้ำในฤดูแล้งปี 62/63 ในช่วง 3 เดือนสุดท้ายก่อนเข้าสู่ฤดูฝน กรมชลประทานจะบริหารจัดการน้ำตามแผนการจัดสรรน้ำที่วางไว้อย่างเคร่งครัด รวมทั้งขอความร่วมมือจากสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าให้ปฏิบัติ  ตามข้อกำหนดของกรมชลประทาน พร้อมกันนี้ ขอผู้ใช้น้ำทุกภาคส่วนร่วมแรงร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัดและคุ้มค่าที่สุด เพื่อให้เกิดความเสถียรภาพ ความมั่นคงด้านน้ำ และไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการอุปโภคบริโภคในระยะยาว


ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) กรมชลประทาน

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์