กรมชลประทาน ขานรับนโยบายรัฐบาล จัดหาน้ำกินน้ำใช้คุณภาพดีให้เพียงพอตลอดฤดูแล้ง พร้อมวางมาตรการประหยัด โดยนำน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองมาเสริมปริมาณน้ำต้นทุนให้ลุ่มเจ้าพระยา หวังลดการใช้น้ำจาก 4 เขื่อนหลัก คุมเข้มปริมาณน้ำทุกคิวไม่ให้สูญหายไปในระบบ เพื่อประชาชนจะไม่ได้รับผลกระทบในช่วงนี้
ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า กรมชลประทานได้จัดสรรน้ำเพื่อให้มั่นใจว่าประชาชนจะมีน้ำเพื่อกิจกรรมอุปโภคบริโภคตลอดช่วงหน้าแล้งนี้ตามนโยบายของรัฐบาล รวมไปถึงน้ำเพื่อการดูแลผลผลิตทางการเกษตรที่ปลูกต่อเนื่อง สวนผลไม้-กล้วยไม้เศรษฐกิจ และควบคุมคุณภาพของน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ปลอดภัยเพื่อผลิตน้ำประปา รวมถึงการรักษาระบบนิเวศน์
“ความต้องการใช้น้ำดังกล่าวมีความจำเป็นเป็นอย่างยิ่ง กรมชลประทาน จึงทำการผันน้ำข้ามลุ่มน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองมาสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพื่อช่วยประหยัดการใช้น้ำต้นทุนจากเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เนื่องจากปริมาณน้ำของทั้ง 4 เขื่อนหลักอยู่ในเกณฑ์น้อย โดยจะผันมา 500 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.)ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2562 และจะผันน้ำต่อเนื่องไปจนสิ้นเดือนเมษายน 2563 อย่างไรก็ตาม จากการลงพื้นที่พบว่าปริมาณน้ำที่ผันมาเกิดการสูญหายไปในระบบกว่าครึ่ง ซึ่งในสภาวการณ์น้ำน้อยเช่นนี้ต้องมีการแก้ไขโดยเร่งด่วน” อธิบดีกรมชลประทาน กล่าว
ดร.ทองเปลวฯ อธิบายว่า น้ำจากแม่น้ำแม่กลองที่จะมาถึงแม่น้ำเจ้าพระยา จะทำการผันมาลงแม่น้ำท่าจีนโดยผ่านทางคลองจระเข้สามพัน และคลองท่าสาร-บางปลาก่อน ซึ่งในช่วงนี้ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด จากแม่น้ำท่าจีนสูบน้ำผ่านสถานีสูบน้ำพระยาบรรลือ ไปออกที่ประตูระบายน้ำสิงหนาท 2 ก่อนจะลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง โดยคลองพระยาบรรลือมีความยาว 42.5 กิโลเมตร มีน้ำบางส่วนเริ่มหายไปจากระบบบริเวณนี้ จากการตรวจสอบพบว่าก้นคลองเริ่มเป็นสันดอน เป็นอุปสรรคต่อการไหลของน้ำ จึงได้ดำเนินการขุดลอกสันดอนออก จากการสำรวจตลอดคลองมี 10 จุดที่ต้องทำการขุดลอก ระยะทางยาวประมาณ 15 กม. โดยได้เริ่มทำการขุดลอกแล้ว อีกมาตรการที่ดำเนินการคือ ขอความร่วมมือให้ปิดประตูน้ำสองริมฝั่งคลองพระยาบรรลือ เพื่อให้แม่น้ำเจ้าพระยาได้รับน้ำเต็มจำนวน ไม่ไหลออกข้างทาง ทำให้ขณะนี้น้ำสามารถเดินทางและไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพาะยาได้สะดวกมากขึ้น
“เพื่อให้การลำเลียงน้ำไปลงแม่น้ำเจ้าพระยาให้เร็วขึ้น กรมชลประทาน จึงได้ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ 14 จุด รวมทั้งสิ้น 84 เครื่อง และเครื่องสูบน้ำอีก 12 เครื่อง นอกจากการผันน้ำทางคลองพระยาบรรลือแล้ว ยังทำการผันน้ำมาทางคลองพระพิมล และคลองประปาทำให้สามารถนำน้ำลงแม่น้ำเจ้าพระยาได้ถึง 57 ลบ.ม.ต่อวินาที จากที่เคยได้ประมาณ 20 ลบ.ม.ต่อวินาที ช่วยลดการระบายน้ำจากหน้าเขื่อนเจ้าพระยา ที่ตอนนี้ระบายน้ำผ่านเขื่อนวันละ 70 ลบ.ม.ต่อวินาที ทำให้ช่วยประหยัดน้ำจาก 4 เขื่อนหลักได้เป็นอย่างดี”
อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวต่อไปว่า มวลน้ำที่อยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยาขณะนี้ช่วยควบคุมคุณภาพน้ำให้เหมาะสมกับการใช้เพื่อการเกษตรต่อเนื่อง สวนผักผลไม้ สวนกล้วยไม้ โดยเฉพาะน้ำดิบเพื่อผลิตน้ำประปา
นอกจากนี้ กรมชลประทาน ยังได้ใช้คลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ควบคุมปริมาณน้ำเค็มที่จะรุกล้ำเข้ามาด้วยอีกทาง ทำให้ค่าความเค็มและคุณภาพน้ำยังอยู่ในเกณฑ์ควบคุม และเมื่อน้ำทะเลหนุนอีกครั้งในช่วงกลางและปลายเดือนกุมภาพันธ์ จะได้ใช้มาตรการดังที่กล่าวเป็นหลักในการบริหารจัดการน้ำ และเมื่อสิ้นเมษายน กรมชลประทานจะได้นำน้ำจากลุ่มแม่กลองปริมาณ 350 ล้านลบ.ม. เพื่อเสริมน้ำต้นทุนให้ลุ่มเจ้าพระยาในช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2563
“อยากเรียนให้ผู้ใช้น้ำทราบว่า มาตรการต่าง ๆ ที่ได้ดำเนินการมุ่งเน้นกิจกรรมการใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นสำคัญยิ่ง เพราะน้ำต้นทุนมีจำกัด เกษตรกรควรลดการทำนาปรัง และขอยืนยันว่าประชาชนจะมีน้ำกินน้ำใช้เพียงพอไปตลอดจนถึงเดือนกรกฎาคม” ดร.ทองเปลว กล่าวปิดท้าย
ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) กรมชลประทาน
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์