รมว.กษ.ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำภาคตะวันออก

วันที่ 2ก.พ.63 ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำภาคตะวันออก โดยมี นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน นายสุชาติ เจริญศรี รองอธิบดีกรมชลประทาน นายสุริยพล นุชอนงค์  ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 9 ให้การต้อนรับและบรรยายสรุปสถานการณ์น้ำ ณ ห้องประชุมสำนักงานชลประทานที่9 จังหวัดชลบุรี

นายสุริยพล นุชอนงค์  ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 9  กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกว่า ปัจจุบัน(31ม.ค.63)อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 7 แห่ง มีปริมาณน้ำรวมกัน 592 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 37 ของความจุอ่างรวมกัน อ่างเก็บน้ำขนาดกลางจำนวน 55 แห่ง มีปริมาณน้ำรวมกัน 498 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 53 ของความจุอ่างรวมกัน มีพื้นที่ประสบภัยแล้ง ด้านการเกษตร ในเขตภาคตะวันออก ได้แก่ จ.ฉะเชิงเทรา 3 อำเภอ 5 ตำบล 16 หมู่บ้าน ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้ร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการช่วยกันแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในระยะเร่งด่วน อาทิ บริษัท East Water และการประปาส่วนภูมิภาค ได้สนับสนุนน้ำเข้ามาเสริมในระบบปริมาณกว่า 20 ล้าน ลบ.ม.  ด้านสถาบันน้ำและพลังงานเพื่อความยั่งยืน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้ร่วมประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือจากการนิคมอุตสาหกรรมลดการใช้น้ำลงร้อยละ 10  โดยในส่วนของกรมชลประทาน ได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้และความเข้าใจให้แก่กลุ่มเกษตรกรผู้ใช้น้ำจากทุกอ่างเก็บน้ำ โดยขอความร่วมมือให้ทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัดและเป็นไปตามแผนการจัดสรรน้ำที่วางไว้อย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย และให้มีน้ำเพียงพอตลอดฤดูแล้งนี้ต่อเนื่องไปจนถึงต้นฤดูฝนปีหน้า

นอกจากนี้ กรมชลประทาน ยังได้วางแผนดำเนินการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในระยะยาว  ด้วยการดำเนินโครงการผันน้ำจากพื้นที่จังหวัดจันทบุรีไปยังแหล่งกักเก็บน้ำจังหวัดระยอง โดยการผันน้ำจากคลองวังโตนด จ.จันทบุรี ไปยังอ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ระยอง ผ่านท่อส่งน้ำระยะทางประมาณ 45 กิโลเมตร พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำจำนวน 9 เครื่อง อัตราการสูบ 5 ลบ.ม.ต่อวินาที ดำเนินการสูบผันน้ำเฉพาะช่วงฤดูฝน โดยมีระยะเวลาการสูบน้ำ 5 เดือน ตั้งแต่เดือนมิถุนายนไปจนถึงเดือนตุลาคม ปริมาณน้ำประมาณ 70 ล้าน ลบ.ม.

ในการนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เน้นยำให้ทุกภาคส่วนบูรณางานร่วมกันบริหารจัดการน้ำที่ดี มีแผนบริหารจัดการน้ำที่ชัดเจน รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชน เกษตรกร และภาคอุตสาหกรรม ใช้น้ำอย่างมีคุณค่า เพื่อให้มีน้ำเพียงพออุปโภคบริโภคไปตลอดจนช่วงฤดูแล้งนี้