นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของตั๊กแตนในทวีปแอฟริกา ตะวันออกกลาง และเอเชียใต้ ซึ่งจากรายงานของอัครราชทูต ฝ่ายการเกษตร ประจำสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ณ กรุงโรม ระบุว่า องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations หรือ FAO) ได้ออกแถลงข้อมูลการแพร่ระบาดของตั๊กแตนทะเลทรายว่ามีการระบาดมากกว่าพันล้านตัวใน 13 ประเทศ ได้แก่ เคนยา เอธิโอเปีย เอริเทรีย โซมาเลีย ซูดานใต้ อูกันดา จิบูตี เยเมน โอมาน ซาอุดิอาระเบีย อิหร่าน อินเดีย และปากีสถาน โดยการระบาดดังกล่าวเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่ทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการขยายพันธุ์ของตั๊กแตน ซึ่งการแพร่ระบาดในครั้งนี้มีความรวดเร็วและรุนแรงที่สุดในรอบ 25 ปี
สำหรับฝูงตั๊กแตนทะเลทราย มีขนาดใหญ่ สร้างความเสียหายให้ผลผลิตการเกษตรอย่างรุนแรงและรวดเร็ว ซึ่งตั๊กแตนกัดกินพืชทุกประเภท โดยสามารถกัดกินผลิตผลทางการเกษตรได้มากเท่ากับการบริโภคอาหารของประชากรทั้งประเทศเคนยาในหนึ่งวัน ก่อให้เกิดปัญหาด้านความมั่นทางอาหารอย่างร้ายแรง ทั้งนี้ เนื่องจากการแพร่ระบาดมีความรุนแรงและรวดเร็ว หากไม่สามารถหยุดการแพร่ระบาดได้เร็ววัน จะส่งร้ายแรงทั้งในมิติของความเสียหายของผลิตผลทางการเกษตร และการขาดแคลนอาหาร และมิติการแพร่ระบาดไปยังประเทศต่างๆ อย่างไม่สามารถควบคุมได้
การแพร่ระบาดเกิดขึ้นอย่างรุนแรงและรวดเร็ว หน่วยงานภาครัฐของไทยจำเป็นต้องเฝ้าระวังเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดที่มีความเป็นไปได้ว่าจะมีการระบาดข้ามภูมิภาค โดยการเฝ้าระวังสถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างใกล้ชิด และเตรียมความพร้อมในการยกระดับการตรวจสินค้าเกษตรที่ผ่านเข้า – ออก และตรวจแมลงศัตรูพืช ณ ด่านกักกันพืช ในทุกช่องทาง เพื่อป้องกันไข่หรือตัวอ่อนของตั๊กแตนที่ปนเปื้อนมากับสินค้าเกษตร รวมถึงการวางแผนเตรียมการรองรับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น ทั้งนี้ พืชที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการระบาดของตั๊กแตนทะเลทราย ได้แก่ พืชที่จะเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวในช่วงหน้าแล้ง โดยเฉพาะช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ถึง เมษายน อาทิ ข้าวนาปรัง อ้อยโรงงาน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
………………………………………….
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์
ข้อมูล : กองเศรษฐกิจการเกษตรระหว่างประเทศ