รมช.ศึกษาฯ ลงพื้นที่ติดตามงาน กศน.จังหวัดนครนายก ขับเคลื่อนนโยบาย สู่ กศน. WOW 6G”

วันนี้ 27 ม.ค. 63 ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงการลงพื้นที่ ตรวจราชการและติดตามผลการดำเนินงานตามนโยบาย การขับเคลื่อน กศน.จังหวัดนครนายก สู่ กศน. WOW 6G” ณ สำนักงาน กศน. จังหวัดนครนายก ตอนหนึ่งว่า “วันนี้ลงพื้นที่จังหวัดนครนายก พร้อมด้วยอาการวิงเวียนศรีษะ ซึ่งตนไม่สบายมาตั้งแต่ช่วงกลางเดือนแล้ว แต่ยังมีกำหนดการลงพื้นที่ตรวจราชการ และให้กำลังใจบุคลากรในพื้นที่ เช่นเดิม เพราะได้สัญญากับพื้นที่เอาไว้แล้ว แม้จะเหนื่อยล้าจากอาการไม่สบายแค่ไหน แต่ใจตนก็ยังสู้ พร้อมลงพื้นที่เพื่อแก้ไขและมอบนโยบายขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาตลอดจนสร้างขวัญ กำลังใจให้กับบุคลากรและลูกหลานของเรา สุขก็เห็นหน้า ทุกข์ก็ต้องเห็นหน้า ซึ่งจากการลงพื้นที่ในวันนี้ ตนขอชื่นชมและขอบคุณผู้บริหาร ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ทุกคนของสำนักงาน กศน.นครนายก ที่ร่วมมือกันขับเคลื่อนการดำเนินงานต่างๆให้สามารถนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติตามนโยบายได้อย่างเป็นรูปธรรม สะท้อนการจัดศึกษาในทุกช่วงวัย โดยเฉพาะการขับเคลื่อนและขยายผลการใช้เทคโนโลยีในการจัดการเรียนการสอนและเพิ่มทักษะไปสู่ กศน.ยุคดิจิทัล ทำให้สามารถพลิกบทบาทตนเองไปสู่การส่งเสริมการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น และเพื่อให้สามารถตอบโจทย์การพัฒนาแพสตฟอร์มดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้ และใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือการเรียนรู้ ในการพัฒนาศักยภาพของคนไทยทุกช่วงวัย ซึ่งเป็นการส่งเสริมการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่สามารถตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 ตามจุดเน้นและนโยบายกระทรวงศึกษาธิการและยุทธศาสตร์ชาติ ให้ตรงตามเป้าหมายมากขึ้นอย่างมีคุณภาพ เป็นการสร้างและขยายโอกาสในการเรียนรู้ให้กับกลุ่มเป้าหมายได้สะดวก รวดเร็ว ตรงตามความต้องการของผู้รับบริการให้มากที่สุด

ขณะนี้ตนจึงได้มอบนโยบายให้ สำนักงาน กศน. สำรวจความต้องการในการเรียนรู้ อบรมออนไลน์ สำหรับผู้เรียน/ผู้รับบริการ ในสถานศึกษา สังกัดสำนักงาน กศน.ทั่วประเทศ ในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้จัดการศึกษาออนไลน์ (Online Learning) เพื่อจัดการความรู้ร่วมกัน เรียนรู้การใช้เทคโนโลยีร่วมกัน อันจะนำไปสู่บริการการศึกษาตามความต้องการของผู้เรียนและผู้รับบริการในยุคดิจิทัล ซึ่งจะเป็นก้าวสำคัญที่จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงของพัฒนาการจัดการศึกษาของ กศน. ให้ทั่วถึงทุกที่ ทุกเวลาอย่างแท้จริง เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง สามารถเลือกเรียนตามความสนใจและความถนัดของตนเอง รวมถึงเป็นการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนการสอนและเกิดเครือข่ายความรู้ในยุคดิจิทัล เพื่อให้ผู้เรียนได้รับการจัดการศึกษาทั่วถึง และมีคุณภาพ และจะนำผลสรุปที่ได้มาวางแผนและจัดหลักสูตรตามแนวทางการขับเคลื่อน กศน. สู่ กศน. WOW (การศึกษาออนไลน์) ตามจุดมุ่งหมายต่อไป”

 

ดร.กนกวรรณ รมช.ศธ. กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “จากการที่ได้พูดคุยและซักถามนักศึกษาและครู กศน.ในห้องเรียนออนไลน์จำลองที่นำเสนอในวันนี้ ถือว่าประสบผลสำเร็จระดับหนึ่ง ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความตั้งใจของทุกท่าน โดยเฉพาะการพัฒนาการจัดการศึกษาออนไลน์ที่ขยายผลสู่ กศน.อำเภอ และ กศน.ตำบล เพื่อจัดการเรียนรู้แก่เด็กนักศึกษาและประชาชนในพื้นที่ให้ได้รับความรู้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน มุ่งส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนตามความสนใจและความถนัดของตนเอง โดยได้มีการพัฒนาศักยภาพคนด้านทักษะและความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy) สร้างกระบวนการเรียนรู้แบบ E-learning ที่ใช้ระบบเทคโนโลยีเข้ามาบริหารจัดการเรียนรู้ เช่น ระบบการเรียนรู้ในระบบเปิดสำหรับมหาชน (Massive Open Online Course : MOOCs) คอมพิวเตอร์ช่วยสอน (Computer Assisted Instruction: CAI) มีนโยบายที่ชัดเจนด้านจัดทำแผนการเรียนรู้ และได้ส่งเสริมการนำแผนการเรียนรู้ไปใช้ของครู กศน. รวมไปถึงการวางแผนการเรียนรู้ การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ และการวัดผลประเมินผลตามสภาพจริง โดยการจัดอบรมให้ความรู้แก่บุคลากรอย่างต่อเนื่อง ติดตามการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนของครูอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้การจัดการเรียนการสอนภายในสถานศึกษาดำเนินไปตามทิศทางของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ

อย่างไรก็ตาม จากผลการดำเนินงานที่รายงานให้ทราบพบว่า ในการดำเนินการบางส่วนยังคงต้องมีการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น อาทิเช่น การวางแผนการเรียนรู้ของครูยังไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของหลักสูตร การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนยังยึดครูเป็นศูนย์กลาง และการวัดผลประเมินผลการเรียนยังเน้นการทดสอบเพื่อวัดความรู้ความจำของผู้เรียนเป็นสำคัญ และมีการพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมให้บุคลากร ครู กศน. มีความรู้ความเข้าใจในการทำงานที่เป็นระบบ ทั้งระบบการบริหารจัดการ การจัดระบบองค์กร ให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงระบบการประกันคุณภาพการศึกษา ทำให้สามารถนำผลจากอบรมมาปรับปรุงคุณภาพการศึกษา ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าชื่นชม

ดังนั้น สำนักงาน กศน.จึงควรต้องมีการวางแผน จัดทำหลักสูตร และอบรมพัฒนาครู กศน. ให้มีความรู้ ความเข้าใจในการจัดการศึกษา สามารถนำความรู้ที่ได้ไปใช้ในการจัดกระบวนการเรียนการสอนอย่างมีคุณภาพ รวมทั้งการจัดทำแผนการเรียนรู้ โดยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาพัฒนาระบบการสอนแบบออนไลน์ การจัดการเรียนการสอนรายบุคคล และการจัดทำสื่อการเรียนการสอนผ่านระบบดิจิทัล ในรูปแบบต่างๆ ให้มีความน่าสนใจและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อให้ผู้เรียน และผู้รับบริการได้รับประโยชน์อย่างทั่วถึง ทุกที่ ทุกเวลาอย่างแท้จริง ในส่วนของการศึกษาเอกชนหรือ สช. ได้รับทราบจากสำนักงานกองทุนสงเคราะห์ว่ายังมีโรงเรียนเอกชนที่ยังค้างส่งเงินสมทบอยู่หลายโรงเรียน ซึ่งสร้างความเสียหาย และทำให้ครูเอกชนขาดขวัญและกำลังใจในการทำงานเป็นอย่างมาก เพราะหากขาดส่งเงินสมทบตั้งแต่ 2 เดือนขึ้นไป ครูเอกชนจะไม่มีสิทธิ์เบิกจ่ายเงินสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลได้ ทำให้เสียสิทธิ์ตรงนี้ไป จึงขอให้ทุกโรงเรียนจ่ายเงินสมทบให้ครบ และตรงเวลาเพื่อประโยชน์ของโรงเรียนเอกชนด้วย” ดร.กนกวรรณ กล่าว

ข่าว : เอื้อมพร สุเมธาวัฒนะ กรรณิกา พันธ์คลอง
ภาพ : เอื้อมพร สุเมธาวัฒนะ