วันที่ 27 ม.ค. 63 นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินทางลงพื้นที่ ไปติดตามการแก้ไขปัญหาภัยแล้งและการช่วยเหลือน้ำ เพื่อผลิตประปาในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ โดยมีนายเกียรติศักดิ์ หนูแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 8 และนายเทิดพงษ์ ไทอุดม ผู้อำนวยการโครงการชลประทานบุรีรัมย์ ร่วมให้การต้อนรับและบรรยายสรุปสถานการณ์น้ำ รวมไปถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหา ณ โครงการชลประทานบุรีรัมย์ อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์
นายเกียรติศักดิ์ หนูแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 8 กรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ว่า ปัจจุบันสถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ (ณ 27 ม.ค. 63) มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 63 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) จากความจุใช้การได้ 279 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 23 ของความจุใช้การของอ่างฯรวมกัน (ปริมาณน้ำเก็บกักสูงสุดในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์รวมกันประมาณ 295.39 ล้าน ลบ.ม.) จากปริมาณน้ำใช้การได้ดังกล่าว มีแนวโน้มที่จะไม่เพียงพอที่จะสนับสนุนน้ำเพื่อผลิตประปา จำเป็นต้องหาแนวทางในการสำรองน้ำไว้เพิ่มเติม เพื่อให้เพียงพอใช้ตลอดฤดูแล้งนี้ไปจนถึงต้นฤดูฝนปีหน้าด้วย
ด้านนายเทิดพงศ์ ไทยอุดม ผู้อำนวยการโครงการชลประทานบุรีรัมย์ กล่าวว่า ขณะนี้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มากและอ่างเก็บน้ำห้วยตลาด มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 2.028 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งจากการประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณาสถานการณ์น้ำในเขตจังหวัดบุรีรัมย์ระหว่างสำนักชลประทานที่ 8 และการประปาส่วนภูมิภาคเขต 8 เมื่อวันที่ 14 ม.ค. 63 ที่ผ่านมา การประปาส่วนภูมิภาคบุรีรัมย์ ยืนยันว่าปริมาณน้ำในอ่างฯทั้ง 2 แห่ง จะสามารถรองรับการผลิตประปาได้ถึงวันที่ 30 มี.ค. 63 เท่านั้น
ทั้งนี้ ในช่วงต้นฤดูแล้งเดือนพฤศจิกายน 2562 โครงการชลประทานบุรีรัมย์ ได้คำนวณปริมาณน้ำที่มีอยู่ในขณะนั้น ที่ประเมินได้ว่าปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆในช่วงต้นฤดูแล้ง จะสามารถใช้น้ำได้ถึงกลางเดือน ธ.ค. 62 แต่หลังจากที่ได้มีการสูบน้ำกลับและสูบน้ำที่สถานีลำปลายมาศเข้าอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มากและอ่างเก็บน้ำห้วยตลาด ทำให้ปริมาณน้ำในอ่างฯที่มี สามารถใช้ได้ถึงวันที่ 30 มี.ค. 63 จากนั้นจะใช้น้ำที่จะผันจากเมืองหินเพิ่มเติม ซึ่งจะใช้ได้อีก 1 เดือน และจะมีน้ำที่ผันจากอ่างเก็บน้ำลำจังหันและอ่างเก็บน้ำลำปะเทียที่สามารถใช้ได้อีก 1 เดือน จากแนวทางการจัดหาน้ำเพิ่มเติมดังกล่าว ทำให้มีปริมาณน้ำสำรองไว้ใช้ได้ถึงประมาณวันที่ 30 พ.ค. 63 หลังจากนั้นจะใช้น้ำจากระบบผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยสวาย ซึ่งอยู่ระหว่างก่อสร้างโดยการประปาส่วนภูมิภาค คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณต้นเดือน พ.ค. 63
กรมชลประทาน จะบริหารจัดการน้ำให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด และแม้ว่าขณะนี้ยังมีปริมาณน้ำเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภคตลอดฤดูแล้ง แต่ยังคงต้องสำรองน้ำต้นทุนไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนด้วย หากเกิดกรณีฝนมาล่าช้า จึงต้องขอความร่วมมือทุกภาคส่วนร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัดให้ถึงที่สุด รวมทั้งสร้างการตระหนักรู้ถึงคุณค่าของทรัพยากรน้ำ เพื่อลดความเสี่ยงต่อปัญหาการขาดแคลนน้ำในอนาคตด้วย
ทั้งนี้ นายเฉลิมชัยฯ ได้มอบนโยบายและเน้นย้ำให้ชลประทานทุกพื้นที่บริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ มีการวางแผนล่วงหน้า มีแผนที่ชัดเจน ซึ่งจะช่วยให้ผ่านวิกฤติไปได้ น้ำอุปโภคบริโภคเป็นเรื่องสำคัญที่หล่อเลี้ยงคนทั้งประเทศ จึงต้องบริหารจัดการไม่ให้ขาดแคลนน้ำ ซึ่งได้มอบนโยบายให้เพิ่มพื้นที่เก็บกักน้ำ ในส่วนของอ่างที่ตื้นเขินให้สำรวจเพื่อจัดทำแผนของบขุดลอกเพิ่มพื้นที่ปริมาตรน้ำให้เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันในส่วนของลุ่มน้ำต่างๆ ที่สามารถทำแก้มลิงได้ให้ดำเนินการทำแผนได้ทันที เพื่อเก็บกักน้ำให้เพียงพอไว้ใช้ในฤดูแล้ง อย่างไรก็ตามได้กำชับและขอความร่วมมือทุกภาคส่วน ต้องประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ตลอดจนเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือให้พร้อมรับมือสถานการณ์
ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) กรมชลประทาน
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์