สถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่ใช้น้ำต้นทุนจาก 4 เขื่อน ปริมาณน้ำในเขื่อนลดลงอย่างต่อเนื่อง จัดสรรได้เฉพาะการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศเท่านั้น วอนหากทุกภาคส่วนร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัด ปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัด จะเพียงพอใช้ไปจนถึงต้นฤดูฝนปีหน้าแน่นอน
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) ปัจจุบัน(27 ม.ค. 63) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 10,526 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 42 ของความจุอ่างฯทั้งหมด ในขณะที่มีน้ำใช้การได้ 3,830 ล้าน ลบ.ม. แยกได้ดังนี้ เขื่อนภูมิพล มีปริมาณน้ำ 5,349 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 40 ของความจุอ่างฯ มีน้ำใช้การได้ 1,549 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำ 4,586 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 48 ของความจุอ่างฯ มีน้ำใช้การได้ 1,736 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน มีปริมาณน้ำ 392 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 42 ของความจุอ่างฯ มีน้ำใช้การได้ 349 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำ 200 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 21 ของความจุอ่างฯ มีน้ำใช้การได้ 197 ล้าน ลบ.ม.
ทั้งนี้ เมื่อนำปริมาณน้ำใช้การได้ในแต่ละอ่างฯ ดังกล่าวมาเปรียบเทียบวันเดียวกันกับปีที่แล้ว(27 ม.ค. 62) ทั้ง 4 อ่างฯ มีน้ำน้อยกว่าร้อยละ 67 , 56 , 35 และ 58 ตามลำดับ ซึ่งปริมาณน้ำในฤดูแล้งปีนี้ จะคล้ายคลึงกับปริมาณน้ำในฤดูแล้งปี 2558/59 ที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยามีปริมาณน้ำน้อย โดยมีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 3,489 ล้าน ลบ.ม. (ณ วันที่ 27 ม.ค. 59) ดังนั้น ในฤดูแล้งปีนี้ กรมชลประทาน จึงต้องบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตามแผนที่วางไว้อย่างเคร่งครัด เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดเพียงพอใช้ไปจนถึงต้นฤดูฝนปีหน้า
กรมชลประทาน ได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทานในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา บริหารจัดการน้ำในแต่ละพื้นที่ให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ เพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่อย่างจำกัด พร้อมจัดเตรียมเครื่องสูบน้ำ รถบรรทุกน้ำ และเครื่องจักรเครื่องมือต่างๆ ที่พร้อมจะเข้าไปแก้ไขปัญหาได้ตลอดเวลา ทั้งนี้ เนื่องจาก สถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยามีปริมาณน้ำต้นทุนอยู่ในเกณฑ์น้อย และเพื่อให้การลำเลียงน้ำจากพื้นที่ตอนบน ลงมาเพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภค การรักษาระบบนิเวศ อย่างเพียงพอ รวมทั้งการผลักดันน้ำเค็มเป็นไปอย่าง มีประสิทธิภาพ จึงได้บูรณาการทำงานร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดต่างๆในลุ่มน้ำเจ้าพระยา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่มีสถานีสูบน้ำเพื่อการเกษตรให้สูบน้ำตามข้อกำหนดของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมประชาสัมพันธ์ ขอความร่วมมือผู้ใช้น้ำทุกภาคส่วนได้ปฏิบัติตามแผนการใช้น้ำที่วางไว้อย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการใช้น้ำในภาพรวม
ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) กรมชลประทาน
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์