กรมชลประทาน เร่งช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่อำเภอหนองเสือ และอำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี หลังได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาภัยแล้ง ไม่มีน้ำเพียงพอที่จะใช้หล่อเลี้ยงพืชไร่ พืชสวน และรักษาระบบนิเวศ โดยได้ร้องขอความช่วยเหลือจากกรมชลประทาน ให้ดำเนินการผันน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาลงสู่คลองรังสิตฯ เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้ง นั้น
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรทมชลประทาน เปิดเผยถึงกรณีที่เกิดขึ้นว่า สถานการณ์น้ำในปัจจุบัน เขื่อนขนาดใหญ่ 4 เขื่อนหลักของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำเก็บกักอยู่ในเกณฑ์น้อย การส่งน้ำในช่วงฤดูแล้งนี้จึงเป็นไปอย่างจำกัดตามแผนจัดสรรน้ำที่ได้วางไว้ เพื่อให้มีปริมาณน้ำเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภค และการรักษาระบบนิเวศ เป็นหลัก ตลอดในช่วงฤดูแล้งนี้ไปจนถึงต้นฤดูฝนปีหน้า
สำหรับจังหวัดปทุมธานี ได้ประกาศให้พื้นที่อำเภอหนองเสือ เป็นเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย(ภัยแล้ง)แล้ว ตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2562 เพื่อให้ส่วนราชการ หน่วยงาน องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เข้าดำเนินการช่วยเหลือตามอำนาจหน้าที่ ทั้งนี้ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิตเหนือ ได้ดำเนินการประสานองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น และอำเภอหนองเสือ เพื่อพิจารณาแนวทางในการแก้ไขปัญหาภัยแล้งและหาแหล่งน้ำช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยดังกล่าว โดยกรมชลประทานได้จัดประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ประสบภัยในจังหวัดปทุมธานี รวมไปถึงผู้แทนกลุ่มเกษตรกรคลอง 7,8,9,10,11 และ 12 เข้าร่วมประชุม เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยที่ประชุมได้มีมติให้จัดรอบเวรการสูบน้ำจากคลองรังสิตประยูรศักดิ์ เพื่อส่งน้ำเข้าไปช่วยพื้นที่อำเภอหนองเสือ อำเภอธัญบุรี รวมถึงการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาถนนชำรุดทรุดตัวและรักษาเสถียรภาพของถนนสาย รังสิต-นครนายก(สาย 305) และจะรักษาระดับน้ำในคลองรังสิตไม่ให้ต่ำจนเกิดผล กระทบต่อสเถียรภาพของคันคลองด้วย
สำหรับกรณีที่เกษตรกรขอให้ผันน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาผ่านประตูระบายน้ำเปรมเหนือบางปะอิน ลงคลองเปรมประชากร แล้วระบายลงคลองรังสิตประยูรศักดิ์ เพื่อส่งน้ำไปในพื้นที่อำเภอหนองเสือ นั้น ด้วยสภาพของคลองเปรมประชากร มีคลองสาขาเชื่อมต่อจำนวนมาก ทั้งคลองพุทรา 1 , คลองพุทรา 2 และคลองเชียงรากน้อย คลองสาขาต่างๆเหล่านี้ล้วนไม่มีอาคารควบคุมหรือบังคับน้ำ ดังนั้น การผันน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาผ่านทางคลองเปรมประชากร ปริมาณน้ำจะกระจายลงสู่คลองสาขาต่างๆ ทำให้เกิดการสูญเสียน้ำเป็นจำนวนมาก ประกอบกับปัจจุบันเครื่องสูบน้ำด้วยไฟฟ้าที่สถานีสูบน้ำเปรมเหนือบางปะอิน ไม่สามารถสูบน้ำได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เนื่องจากระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามีระดับต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ทางโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิตใต้ จึงได้ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี หาแนวทางในการลำเลียงน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ามาเติมในคลองรังสิตฯ ภายใต้เงื่อนไขที่ระดับน้ำและค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ในเกณฑ์ที่สูบได้ พร้อมกับจัดเจ้าหน้าที่คอยติดตามผลการจัดรอบเวรการรับน้ำ และตรวจสอบคุณภาพน้ำโดยเฉพาะความเค็ม เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับเกษตรกรตลอดในช่วงฤดูแล้งนี้
ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจริยะ (SWOC) กรมชลประทาน
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
26 มกราคม 2563