กรมการแพทย์ โดยสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ห่วงสุขภาพประชาชนและเด็กเล็ก ที่อยู่ในเขตพื้นที่ที่ประสบปัญหาค่าฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐาน แนะประชาชน ผู้ปกครองเด็ก หลีกเลี่ยงการทำงานกลางแจ้งและการพาเด็กเล็กออกกลางแจ้ง โดยเฉพาะเด็กๆ ที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับโรคระบบภูมิแพ้ โรคระบบทางเดินหายใจ หากจำเป็นต้องออกกลางแจ้งควรหาหน้ากากอนามัย N95 ใส่เพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพที่จะเกิดขึ้น
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ปัญหามลพิษทางอากาศค่าฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐาน ส่งผลร้ายแรงต่อสุขภาพของประชาชนและเด็กเล็ก โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว เพราะขนาดของฝุ่นละอองมีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน ถ้าได้รับฝุ่นละอองในปริมาณเกินมาตรฐานสะสมเป็นเวลานานจะส่งผลเสียต่อสุขภาพเป็นอย่างมาก เช่น การทำงานของปอดเสื่อมประสิทธิภาพลง ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หลอดเลือดในสมองตีบตัน หัวใจขาดเลือด มะเร็งปอด มะเร็งผิวหนัง เป็นต้น เฉพาะเด็กเล็กที่มีอัตราการเจ็บป่วยเพิ่มมากขึ้น จากสถิติสำรวจของสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ผลกระทบที่เกิดจากค่าฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐาน โรคที่ประสบปัญหามากที่สุดคือ 1. โรคระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอบ่อย หายใจลำบาก แน่นหน้าอก ในกรณีเป็นไข้หวัดจะหายป่วยช้าลง ในผู้ป่วยโรคแพ้อากาศและหอบหืดจะทำให้มีอาการกำเริบได้ 2. โรคทางผิวหนัง เช่น มีผื่นแดง คัน 3. เยื่อบุตาอักเสบ คันตา ตาแดง
นายแพทย์อดิศัย ภัตตาตั้ง ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวเพิ่มเติมว่า ประชาชน และผู้ปกครองที่มีเด็กเล็ก ผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรหมั่นดูแลสุขภาพ งดกิจกรรมกลางแจ้ง เช่น การออกกำลังกายกลางแจ้ง การทำงานกลางแจ้ง ในเขตพื้นที่ที่มีค่าฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐาน หากมีความจำเป็นควรหาหน้ากากอนามัย N95 หรือหากไม่มีสามารถใช้แบบธรรมดาได้โดยใส่ให้แน่นสนิทกับใบหน้า และไม่ควรให้หน้ากากอนามัยไปสัมผัสวัตถุอื่นๆ ติดตามข่าวเฝ้าระวัง ป้องกันมลพิษทางอากาศจากกรมควบคุมมลพิษ www.pcd.go.th ในเขตพื้นที่ที่ตนเองอยู่อาศัย และไม่ตื่นตระหนกจนเกินไป หากพบว่าตนเองหรือคนใกล้ชิดมีปัญหาด้านสุขภาพ ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อทำการรักษาที่ถูกต้อง