วันที่ 17 มกราคม 2563 นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะ พร้อมด้วย ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำภาคตะวันออก ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ระยอง และจันทบุรี พร้อมพบปะเกษตรกรผู้ใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์ โดยมีนายสุริยพล นุชอนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 9 และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ ณ สำนักงานชลประทานที่ 9 อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกว่า ปัจจุบัน (17 ม.ค. 63) สถานการณ์น้ำภาพรวมของภาคตะวันออก อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 7 แห่ง มีปริมาณน้ำรวมประมาณ 671 ล้านลูกบาศก์เมตร(ล้าน ลบ.ม.) หรือคิดเป็นร้อยละ 42 ของความจุอ่างฯ อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 55 แห่ง มีปริมาณน้ำรวมประมาณ 542 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 57 ของความจุอ่างฯ ส่วนปริมาณน้ำในแม่น้ำสายต่างๆ อยู่ในเกณฑ์ร้อยละ 30 – 50 ของลำน้ำ
ในส่วนของมาตรการรองรับวิกฤตขาดแคลนน้ำในพื้นที่จังหวัดชลบุรี และจังหวัดระยอง ทุกภาคส่วนได้จับมือกันดำเนินการตามมาตรการต่างๆ อาทิ บริษัท EAST WATER ได้ดำเนินการเชื่อมท่อจากอ่างเก็บน้ำประแสร์ไปลงอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ และจากอ่างเก็บน้ำประแสร์ไปลงอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล เพื่อลดการสูญเสียน้ำ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อน้ำเพื่อการเกษตรบริเวณท้ายอ่างฯประแสร์แต่อย่างใด เนื่องจากมีการจัดสรรน้ำไว้อย่างเพียงพอตลอดแล้งนี้แล้ว ด้านการประปาส่วนภูมิภาค ได้ดำเนินการผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองหลวง เพื่อมาช่วยเพิ่มปริมาณน้ำในพื้นที่จังหวัดชลบุรีได้กว่า 10 ล้าน ลบ.ม. นอกจากนี้ ยังได้จัดหาแหล่งน้ำจากบ่อดินเอกชนเพิ่มเติม สามารถเพิ่มปริมาณน้ำได้กว่า 20 ล้าน ลบ.ม. ด้านสถาบันน้ำและพลังงานเพื่อความยั่งยืน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้ร่วมประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือจากการนิคมอุตสาหกรรมลดการใช้น้ำลงร้อยละ 10
นอกจากการแก้ปัญหาในระยะเร่งด่วนแล้ว กรมชลประทาน ยังได้ดำเนินโครงการผันน้ำจากพื้นที่จังหวัดจันทบุรีไปยังแหล่งกักเก็บน้ำจังหวัดระยอง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำภาคตะวันออกอย่างเป็นระบบและยั่งยืน ด้วยการผันน้ำจากคลองวังโตนด จ.จันทบุรี ไปยังอ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ระยอง ผ่านท่อส่งน้ำระยะทางประมาณ 45 กิโลเมตร พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำจำนวน 9 เครื่อง อัตราการสูบ 5 ลบ.ม.ต่อวินาที ดำเนินการสูบผันน้ำเฉพาะช่วงฤดูฝน โดยมีระยะเวลาการสูบน้ำ 5 เดือน ตั้งแต่เดือนมิถุนายนไปจนถึงเดือนตุลาคม ปริมาณน้ำประมาณ 70 ล้าน ลบ.ม.
ทั้งนี้ ในส่วนของกรมชลประทาน ได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้และความเข้าใจให้แก่กลุ่มเกษตรกรผู้ใช้น้ำจากทุกอ่างเก็บน้ำ โดยขอความร่วมมือให้ทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัดและเป็นไปตามแผนการจัดสรรน้ำที่วางไว้อย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย และให้มีน้ำเพียงพอตลอดฤดูแล้งนี้ต่อเนื่องไปจนถึงต้นฤดูฝนปีหน้า
……………………………………………………….
กรมชลประทาน
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
17 มกราคม 2563