กรมการแพทย์ โดย สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) เผยเด็กและเยาวชนยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดอันตราย เสี่ยงต่อการเกิดโรคสมองติดยา แนะผู้ปกครองต้องเป็นแบบอย่างที่ดีไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด
นายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ในปัจจุบันปัญหายาเสพติดได้แพร่ระบาดมากขึ้นในกลุ่มเด็กและเยาวชน ซึ่งเด็กและเยาวชนเหล่านี้คือ อนาคตของชาติ หากพวกเขาเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด จะทำให้เกิดอาการประสาทหลอน หูแว่ว หวาดระแวง เห็นภาพหลอน คลุ้มคลั่ง ทำร้ายตัวเอง รวมถึงทำร้ายผู้อื่น และที่สำคัญที่สุดทำให้เกิดโรคสมองติดยา โดยสมองในส่วนการควบคุมความคิดจะถูกทำลาย ทำให้ผู้เสพมีพฤติกรรมก้าวร้าว รุนแรง เสี่ยงต่อการเกิดอาการทางจิตประสาทอย่างถาวรในอนาคต ทั้งนี้หากผู้ใช้สารเสพติดมีอายุน้อยยิ่งทำให้เกิดอาการทางจิตได้ง่ายขึ้น ส่งผลถึงการเรียน และอาจชักชวนเพื่อนให้มายุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ทำให้ปัญหายาเสพติดเพิ่มความรุนแรงมากขึ้น ครอบครัว ผู้ปกครอง สามารถป้องกันบุตรหลานโดยการเป็นแบบอย่างที่ดี อบรมเลี้ยงดู ให้เวลาให้ความรักความอบอุ่น สอนให้เห็นถึงผลกระทบของยาเสพติด หากพลาดพลั้งเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดแล้ว ต้องดูแลช่วยเหลืออย่างถูกต้องและให้กำลังใจตั้งแต่ระยะเริ่มต้น
นายแพทย์สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี กล่าวเพิ่มเติมว่า จากสถิติผู้เข้ารับการบำบัดรักษายาเสพติดของ สบยช. พบผู้เข้ารับการบำบัดรักษายาเสพติดเริ่มใช้ยาเสพติดมีอายุน้อยที่สุด คือ 9 ปี โดยสมองของเด็กวัยนี้ยังพัฒนาไม่เต็มที่ ซึ่งในคนปกติสมองจะสามารถพัฒนาเต็มที่เมื่ออายุประมาณ 21 – 25 ปี หากมีการใช้ยาเสพติดจะมีผลต่อการยับยั้งการพัฒนาสมอง สติปัญญาลดลง การเรียนรู้มีปัญหา มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคทางจิตประสาท แนะผู้ปกครอง ควรเป็นแบบอย่างที่ดี ต้องไม่เข้ายุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดทุกชนิดหมั่นสังเกตุพฤติกรรมของบุตรหลาน หากพบว่าบุตรหลานของท่านมีพฤติกรรมเสี่ยงหรือเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ควรพูดคุยและบอกกล่าวถึงอันตรายและผลกระทบที่จะตามมา พาไปปรึกษาแพทย์ หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน ให้เวลาพูดคุย หาเวลาว่างทำกิจกรรมร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ ติดตามเฝ้าระวัง แต่ไม่ใช้การจับผิด หรือระแวงไม่ไว้วางใจ ให้โอกาสเพื่อให้บุตรหลานได้เรียนรู้ที่จะแก้ไขปัญหา และลดละเลิกยาเสพติด ร่วมไปถึงสามารถใช้ชีวิตในสังคมอย่างปกติด้วยตนเอง ทั้งนี้หากประสบปัญหาเรื่องยาและสารเสพติดสามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่ สายด่วนยาเสพติด 1165 หรือที่สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี กรมการแพทย์ จังหวัดปทุมธานี และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ในส่วนภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ขอนแก่น อุดรธานี สงขลา และปัตตานี สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.pmindat.go.th
…………………………………………………..