โฆษกกรมอุทยานแห่งชาติฯ นำคณะสื่อมวลชน ติดตามการบริหารช้างป่าในพื้นที่ อช.เขาใหญ่

วันที่ 16 ม.ค.63 นายสมโภชน์ มณีรัตน์ โฆษกกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธ์พืช นายสิทธิชัย เสรีส่งแสง ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 7 (นครราชสีมา) นายครรชิต ศรีนพวรรณ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ พร้อมด้วยคณะสื่อมวลชน ติดตามการบริหารช้างป่าในพื้นที่ อช.เขาใหญ่  จ.นครราชสีมา

นายครรชิต ศรีนพวรรณ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่(อช.เขาใหญ่) จ.นครราชสีมา เปิดเผยถึงกรณีการบริหารช้างป่า ที่มีข่าวว่าช้างป่าเดินออกมานอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ว่า ปัจจุบันจากการสำรวจพบว่าช้างป่าที่อยู่ในบริเวณป่าอนุรักษ์ภายในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่พบประมาณ 300 ตัว มีอัตาการเพิ่มขึ้นทุกปี ประมาณร้อยละ 8 ซึ่งอช.เขาใหญ่ มีพื้นที่ประมาณ 1.3 ล้านไร่ ปัจจุบันช้างป่าและสัตว์ป่าที่ออกนอกพื้นที่อยู่อาศัยได้สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน มีผลจากการที่พื้นที่อาศัยเดิมของสัตว์ป่าถูกรบกวน ประกอบด้วยกิจกรรมต่างๆ เช่น การท่องเที่ยว การล่าสัตว์ หรือการบุกรุกพื้นที่ป่าของราษฎร เพื่อต้องการพื้นที่เกษตรกรรม ส่งผลให้สัตว์ป่า โดยเฉพาะช้างป่า ต้องถอยร่นไปในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ปริมาณช้างป่าเองก็มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น แต่พื้นที่ป่ามีจำกัด จึงทำให้บ่อยครั้งช้างป่าเดินออกนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ มีปัจจัยด้านนิเวศ เช่น ขาดแหล่งน้ำ แหล่งอาหารไม่เพียงพอในฤดูแล้ง อีกทั้งการปลูกพืชผลทางการเกษตรรอบแนวเขตป่าอนุรักษ์ จึงเป็นสิ่งเร้าและดึงดูดให้สัตว์ป่าออกไปกินพืชผล จนได้รับความเสียหายกับราษฎร

ด้านการแก้ปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่ ดังกล่าว ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องและหลายวิธีการ เช่น การร่วมกันกับจังหวัดที่อยู่ในพื้นที่อช.เขาใหญ่ เพื่อร่วมสนับสนุนเงินชดเชยให้กับราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่ากัดกินพืชผลทางการเกษตร ได้รับความร่วมมือจากกรมควบคุมและบรรเทาสาธารณภัย ในการจัดเจ้าหน้าที่และรถขนาดใหญ่มาช่วยเหลือในการผลักดันช้างป่าเข้าสู่ป่า ตลอดจนหลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนด้วย

นอกจากนี้ ได้จัดเจ้าหน้าที่สร้างความรับรู้ให้กับประชาชนในการอยู่ร่วมกับสัตว์ป่า ซึ่งประชาชนยินดีให้ความร่วมมือ มีการจัดตั้งหอดูสัตว์ในชุมชน การสร้างรั้วธรรมชาติ เช่น รั้วรังผึ้ง รั้วไผ่หนาม ไว้คอยป้องกันช้างและสัตว์ป่าออกนอกพื้นที่  การเพิ่มแหล่งน้ำ การจัดแหล่งอาหาร สร้างโป่งเทียม การจัดชุดเคลื่อนที่เร็วในการผลักดันช้างป่ากลับสู่ป่า อีกด้วย

นายสมโภชน์ มณีรัตน์ โฆษกกรมอุทยานแห่งชาติฯ กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาระยาว ซึ่งเป็นนโยบายของกรม อส.ว่า ได้ร่วมศึกษาวิจัยกับเจ้าหน้าที่อช.เขาใหญ่ นักวิจัยของกรมอส. และคณะวนศาสตร์ มก. ศึกษาวิจัย บริบทต่างๆ เช่น พฤติกรรมช้าง แหล่งอยู่อาศัย การจัดการพื้นที่เชื่อมต่อของสัตว์ป่า การขยายเข้าสู่พื้นที่ป่าดงพญาเย็นเขาใหญ่ ซึ่งได้มีการดำเนินการไปตามขั้นตอน นอกจากนี้ยังพบปัญหาอุปสรรคอยู่บ้าง เช่น อัตรากำลังของเจ้าหน้าที่ที่ต้องกระจายกำลังดูแลหน้าที่หลายด้าน เช่น การลาดตระเวน การป้องกันลาดตระเวน การสร้างมวลชนสัมพันธ์ การดูแลนักท่องเที่ยว ซึ่งช้างป่าเดินออกมาไม่เป็นเวลา บ่อยครั้งเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ และปัญาของช้างก็เป็นปัญหาหลายส่วน จึงขอความร่วมมือกับทุกภาคส่วนรวมถึงประชาชนในการร่วมกันแก้ปัญหาดังกล่าว


ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช