วันที่ 15 มกราคม 2563 นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ โดยมี ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วยผู้บริหารภายใต้สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วมการแถลงข่าว ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 115 กรุงเทพมหานคร
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์ภัยแล้งและการแก้ปัญหาน้ำทะเลหนุน ว่า สถานการณ์น้ำ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์)
ปัจจุบัน(15 ม.ค. 63)มีปริมาณน้ำรวมกัน 10,789 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 43 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 4,093 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 23 ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน
สำหรับสถานการณ์ค่าความเค็มในลุ่มน้ำเจ้าพระยา นั้น กรมชลประทานได้ทำการระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาและเขื่อนพระราม รวมทั้งทำการผันน้ำจากแม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำท่าจีน ผ่านคลองระบายน้ำต่างๆ มายังแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อผลักดันค่าความเค็มที่รุกตัวในแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเกิดน้ำทะเลหนุนช่วงวันที่ 13 – 15 ม.ค. 63 ทำให้สถานการณ์ค่าความเค็มยังคงทรงตัวและอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถควบคุมได้ ปัจจุบัน(15 ม.ค. 62) แม่น้ำเจ้าพระยา ที่สถานีประปาสำแล เวลา 08.00 น. วัดได้ 0.19 กรัมต่อลิตร (เกณฑ์เฝ้าระวัง 0.25 กรัมต่อลิตร มาตรฐานเพื่อการผลิตน้ำประปาไม่เกิน 0.50 กรัมต่อลิตร) แม่น้ำท่าจีน ที่สถานีปากคลองจินดา เวลา 08.00 น. วัดได้ 0.25 กรัมต่อลิตร (เกณฑ์เฝ้าระวังสำหรับกล้วยไม้ 0.75 กรัมต่อลิตร เกณฑ์เฝ้าระวังเพื่อการเกษตรไม่เกิน 2 กรัมต่อลิตร) ส่วนแม่น้ำปราจีน-บางปะกง ที่สถานีปราจีนบุรี เวลา 07.00 น. วัดได้ 0.07 กรัมต่อลิตร (เกณฑ์เฝ้าระวังเพื่อการเกษตรไม่เกิน 2 กรัมต่อลิตร) และ แม่น้ำแม่กลอง ที่สถานีปากคลองดำเนินสะดวก เวลา 07.00 น. วัดได้ 0.23 กรัมต่อลิตร (เกณฑ์เฝ้าระวังสำหรับกล้วยไม้ 0.75 กรัมต่อลิตร เกณฑ์เฝ้าระวังเพื่อการเกษตรไม่เกิน 2 กรัมต่อลิตร)
ทั้งนี้ กรมชลประทาน จะดำเนินการบริหารจัดการน้ำและการผลักดันค่าความเค็มที่รุกตัวในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตามแผนอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาคุณภาพน้ำให้สามารถนำมาผลิตน้ำประปาให้แก่ประชาชนได้ตลอดช่วงฤดูแล้งนี้
…………………………………