ปศุสัตว์ “มั่นใจ” โรคปากและเท้าเปื่อยในโคนม ควบคุมได้ วอนเกษตรกรอย่าตื่นตระหนก

กรมปศุสัตว์แนะเกษตรกรเฝ้าระวังโรคปากและเท้าเปื่อยในโคนมระบาด หลังสภาพอากาศเปลี่ยน และภัยแล้งส่งผลต่ออาหารวัวขาดแคลน ขณะที่สถานการณ์การระบาดในพื้นที่ อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี เบื้องต้นส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบแล้ว พร้อมแนะเกษตรกร เข้มงวดการเข้าออกฟาร์ม ผ่านการฆ่าเชื้อทุกครั้ง และนำวัวมารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรค ฟรี!!!

นายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์  โยธคล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยถึงสถานการณ์โรคปากเท้าเปื่อยในโคนมที่ อำเภอมวกเหล็ก จังหวัด สระบุรี  ว่า การควบคุมโรคปากและเท้าเปื่อยนั้น อธิบดีกรมปศุสัตว์ นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต ได้กำชับปศุสัตว์จังหวัดทุกจังหวัดในการเฝ้าระวังและควบคุมโรคอย่างใกล้ชิด และลงพื้นที่ช่วยเหลือเกษตรกรในทุกกรณี ที่แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์จังหวัด และปศุสัตว์อำเภอ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบและให้คำแนะนำกับเกษตรกรแล้ว

ส่วนสาเหตุ ที่เกิดโรคปากเท้าเปื่อย ในโคนม ช่วงนี้ มาจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง รวมถึงสถานการณ์ภัยแล้ง ที่ส่งผลต่ออาหารของวัว คือหญ้า ขาดแคลน และอาจจะไม่สมบูรณ์ ทำให้สภาพวัวอ่อนแอ และติดเชื้อได้ง่าย โดยเฉพาะการกินฝุ่นข้าวโพดที่มากจนเกินไปส่งผลต่อการย่อยของวัว โดยอำเภอมวกเหล็กมีพื้นที่กว้างและมีการเลี้ยงโคนมอย่างหนาแน่น มีเกษตรกร 2,390 ราย โคนม 99,897 ตัว  ทำให้มีการเคลื่อนย้ายสัตว์ ซากสัตว์ เช่น มูลสัตว์ น้ำนม อาหารสัตว์ ตลอดเวลา ทำให้การควบคุมไม่ให้โรคปากและเท้าเปื่อยแพร่กระจายเป็นไปด้วยความยากลำบาก เกษตรกรไม่แจ้งโรคหรือแจ้งโรคช้า ทำให้การเข้าควบคุมโรคล่าช้า โรคแพร่กระจายไปเป็นวงกว้างรวมถึงฟาร์มส่วนใหญ่ไม่มีระบบป้องกันโรคเข้าฟาร์มตามมาตรฐาน และฟาร์มส่วนใหญ่ ไม่ผ่านการพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรค

เบื้องต้นได้แนะนำให้เกษตรกร ควบคุมการเข้าออก ฟาร์ม อย่างละเอียด มีการฆ่าเชื้อทุกครั้ง ผ่านอ่างเก็บน้ำยาฆ่าเชื้อ หมั่นสังเกตอาการของวัว งดการนำสัตว์เข้ามาเลี้ยงใหม่จากโคที่ไม่ทราบแหล่งที่มา หรือจากพื้นที่ที่มีโรคระบาด หลีกเลี่ยง ให้บุคคลภายนอกที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าฟาร์ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคอกเลี้ยงโคและโรงรีดนม เลือกซื้ออาหารจากแหล่งที่เชื่อถือได้ว่าไม่มีโรคปากและเท้าเปื่อยระบาด ที่สำคัญทำความสะอาดและทำลายเชื้อโรคที่โรงเรือน ถังนมและอุปกรณ์ต่าง ๆ

รองอธิบกรมปศุสัตว์ ระบุอีกว่าหากวัวมีอาการน้ำลายยืดให้รีบแจ้งปศุสัตว์ในพื้นที่ทันที เพื่อเข้าดูแลอาการ รวมถึงการฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากเท้าเปื่อย วัวทั่วไปปีละ 2 ครั้ง ส่วนวัวนมปีละ 3 ครั้ง โดยทางปศุสัตว์มีการฉีดวัคซีนให้ฟรี หากเกษตรกรคนใด ยังไม่ได้นำวัวไปฉีดวัคซีน ให้ติดต่อเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ เพื่อทำการฉีดให้ฟรี ซึ่งตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปี 2562 จนถึงปัจจุบัน มีการฉีดวัคซีนให้วัวไปแล้ว 91,842 ตัว สำหรับอาการโรคปากเท้าเปื่อย สัตว์จะมีอาการซึม ไข้สูง น้ำลายไหล มีเม็ดตุ่มใส พุพอง เกิดขึ้นภายในปาก ลิ้น เหงือก เพดานปาก ข้างแก้ม ซอกกีบต่อมาเม็ดตุ่มจะแตกเป็นแผล สัตว์แสดงอาการขาเจ็บ เดินกะเผลก น้ำลายไหลมากขึ้น มีแผลในปาก ลิ้น เท้า และหัวนม

ขณะที่ สถานการณ์โรคปากและเท้าเปื่อย ในพื้นที่จังหวัดสระบุรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี ได้ประกาศกำหนดเขตเฝ้าระวังโรคระบาดชนิดโรคปากและเท้าเปื่อยในสัตว์กีบคู่จำพวกโค กระบือ แพะ แกะ สุกร หมูป่า และกวางตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2562 ปศุสัตว์อำเภอมวกเหล็ก ได้ประกาศเขตโรคระบาดชั่วคราว ชนิดโรคปากและเท้าเปื่อยในพื้นที่หมู่ 2 บ้านคลองม่วงใต้ ตำบลลำพญากลาง อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี ตั้งแต่วันที่ 11 มกราคม 2563 จนถึง 9 กุมภาพันธ์ 2663 เบื้องต้น มีเกษตรกรแจ้งมาแล้ว 108 ราย มี โคนมร่วมฝูง 5,654 ตัว ที่ป่วย / และได้ทำการรักษาให้หาย โดยเหลือ 897 ตัว ที่อยู่ระหว่างการรักษาอาการ

“โรคปากและเท้าเปื่อยเกิดจากเชื้อไวรัส เป็นโรคที่สำคัญในโค กระบือ แพะ แกะ สุกร โรคนี้สามารถแพร่กระจายอย่างรวดเร็วโดยการสัมผัสกับสัตว์ป่วย หรือเชื้อโรคที่ปนเปื้อนมากับยานพาหนะ วัสดุอุปกรณ์ สัตว์ป่วยจะแสดงอาการซึม เบื่ออาหาร มีเมล็ดตุ่มพองหรือแผลบริเวณลิ้น ช่องปาก ริมฝีปาก เต้านม และกีบ ส่งผลให้สัตว์มีน้ำลายไหล กินอาหารไม่ได้ และเดินกะเผลก โดยทั่วไปโรคปากและเท้าเปื่อยมักไม่ได้เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้สัตว์ที่โตเต็มวัยตาย

แต่สัตว์อาจตายได้จากภาวะการติดเชื้อแทรกซ้อนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การติดเชื้อแบคทีเรียหรือจากปัจจัยอื่น ๆ เนื่องจากสัตว์เบื่ออาหารและอ่อนแอ และอาจสร้างความรุนแรงและเป็นสาเหตุการตายในลูกสัตว์ได้เนื่องจากเชื่อไวรัสทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย” นายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์  โยธคล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าว

—————————————————————————————

ข้อมูล : สำนักควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์