วันที่ 12 มกราคม 2563 เวลา 9.30 น. นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีฝ่ายก่อสร้าง กรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมติดตามการดำเนินโครงการที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 11 สำนักพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ได้แก่ โครงการระบบระบายน้ำแม่น้ำตรัง จังหวัดตรัง โครงการระบบระบายน้ำปลักปลิง-จะนะ จังหวัดสงขลา และโครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอหาดใหญ่ (ระยะที่ 2) จังหวัดสงขลา โดยมีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียงเพื่อเร่งรัดการดำเนินงานให้ตรงตามกำหนดเวลาและเป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ ณ สำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 11 อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดยในช่วงเที่ยง รองอธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย นายรุทร์ อินนุพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 11 ร่วมลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างปรับปรุงคลองระบายน้ำ ร.1 พร้อมอาคารประกอบโครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอหาดใหญ่ (ระยะที่ 2) จังหวัดสงขลา
นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า โครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอหาดใหญ่ (ระยะที่ 2) เป็นโครงการที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการแก้ไขปัญหาอุทกภัย เพราะตลอดหลายปีที่ผ่านมา อำเภอหาดใหญ่และพื้นที่ใกล้เคียงในจังหวัดสงขลา ต้องประสบกับปัญหาอุทกภัยอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งล้วนแล้วแต่สร้างความเสียหายให้กับชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างมาก นับตั้งแต่ปี 2531 มูลค่าความเสียหายประมาณ 4,000 ล้านบาท ปี 2543 มูลค่าความเสียหายประมาณ 14,000 ล้านบาท และในปี 2553 มูลค่าความเสียหายประมาณ 10,490 ล้านบาท เมื่อรวมมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเขตพื้นที่เศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยในจังหวัดสงขลา คิดเป็นมูลค่าความเสียหายรวมหลายหมื่นล้านบาท
และเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยอำเภอหาดใหญ่ กรมชลประทานจึงได้พิจารณาดำเนินโครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอหาดใหญ่ (ระยะที่ 2) ขึ้น โดยการปรับปรุงคลองระบายน้ำ ร.1 เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำจากเดิมสามารถระบายน้ำได้ 465 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพิ่มเป็น 1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และเมื่อระบายน้ำร่วมกับคลองอู่ตะเภาในอัตรา 465 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะสามารถเพิ่มศักยภาพในการระบายน้ำได้สูงสุดรวมกันประมาณ 1,665 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยผลการดำเนินงานปรับปรุงคลองระบายน้ำ ร.1 มีความคืบหน้าไปกว่า 69.03% ปัจจุบัน ประตูระบายน้ำหน้าควน 2 ได้ก่อสร้างและติดตั้งบานระบายน้ำเสร็จเรียบร้อยแล้ว สามารถบริหารจัดการน้ำโดยการเปิดปิดบาน เพื่อควบคุมปริมาณน้ำที่จะไหลเข้าสู่คลองระบายน้ำ ร.1 พร้อมทั้งได้ทำการปรับปรุงโดยการขุดขยายความกว้างของคลองระบายน้ำจากเดิมท้องคลองกว้าง 24 เมตร ขยายเป็น 70 เมตร พร้อมทั้งก่อสร้างกำแพงคอนกรีต แล้วเสร็จไปกว่าร้อยละ 80 ทำให้คลองระบายน้ำ ร.1 ในปัจจุบันจะสามารถช่วยในการระบายน้ำได้สูงสุดประมาณ 1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
ในส่วนของโครงการระบบระบายน้ำปลักปลิง-จะนะ จังหวัดสงขลา เพื่อการบรรเทาปัญหาอุทกภัยโดยการระบายน้ำในเขตอำเภอจะนะและอำเภอนาทวี ซึ่งครอบคลุมพื้นที่เป้าหมายทั้งหมด ประมาณ 127 ตร.กม. หรือ 79,375 ไร่ พร้อมทั้งเพิ่มพื้นที่แหล่งน้ำสำหรับการเกษตร การอุปโภคบริโภคในเขตโครงการและพื้นที่ใกล้เคียง ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จะดำเนินการก่อสร้างปรับปรุงสะพานรถยนต์ เพื่อแก้ไขปัญหาตอม่อสะพานเดิมที่กีดขวางทางน้ำ และก่อสร้างอาคารป้องกันตลิ่งเพื่อป้องกันการกัดเซาะ รวมทั้งก่อสร้างประตูระบายน้ำในคลองนาทวี เพื่อกักเก็บน้ำในช่วงฤดูฝนให้ราษฎรได้ใช้ประโยชน์ในช่วงฤดูแล้ง สำหรับโครงการระบบระบายน้ำแม่น้ำตรัง จังหวัดตรัง ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของแม่น้ำตรังไม่ให้เกิดการล้นตลิ่ง ซึ่งที่ผ่านมาเกิดปัญหาอุทกภัยเป็นประจำเกือบทุกปี สร้างความเดือดร้อนให้กับราษฎรในเขตชุมชนเมืองและพื้นที่ข้างเคียง ทั้งยังจะสามารถระบายน้ำออกสู่ปากแม่น้ำตรังได้ดียิ่งขึ้น หากการดำเนินงานก่อสร้างเป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ เชื่อว่าในปี พ.ศ.2563 จะสามารถป้องกันปัญหาอุทกภัยได้เป็นอย่างดี โดยทุกๆโครงการจะมีการติดตามความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนในพื้นที นายประพิศกล่าว