กรมส่งเสริมการเกษตรแนะวิธีรับมือ “น้ำเค็มรุก” เข้าสวน

กรมส่งเสริมการเกษตรเผยสถานการณ์น้ำเค็มปีนี้ น้ำจืดต้นน้ำเหนือเขื่อนมีปริมาณน้อย ทำน้ำทะเลหนุนสูงดันน้ำเค็มไหลเข้าแม่น้ำหลายแห่งในพื้นที่การเกษตรเร็วกว่าช่วงเวลาปกติ พร้อมแนะวิธีรับมือน้ำเค็มรุกเข้าสวน

นางกุลฤดี พัฒนะอิ่ม รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เผยว่า จากสถานการณ์น้ำเค็มรุกพื้นที่การเกษตรที่เกิดขึ้นในปีนี้ อันเกิดจากน้ำจืดต้นน้ำเหนือเขื่อนมีปริมาณน้อย น้ำทะเลหนุนสูงดันให้น้ำเค็มไหลเข้าไปในแม่น้ำหลายแห่งในพื้นที่การเกษตรของจังหวัดที่อยู่แถบปากแม่น้ำเร็วกว่าช่วงเวลาปกติ (ช่วงเดือนเมษายน – พฤษภาคม) ทำให้ค่าความเค็มสูงกว่าค่ามาตรฐานที่พืชรับได้ (ความเค็มค่ามาตรฐานที่พืชรับได้ไม่เกิน 1.2 กรัม/ลิตร) โดยเฉพาะน้ำเค็มอาจจะรุกเข้าพื้นที่อย่างน้อย 4 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี นครปฐม สมุทรสาคร สร้างผลกระทบและความเสียหายให้กับพื้นที่กล้วยไม้ ไม้ผลไม้ยืนต้น และพืชอื่น ๆ ได้

ผลกระทบของน้ำเค็มที่มีต่อพืช เมื่อเกษตรกรนำมารดต้นพืชจะพบว่า ปลายใบไหม้ ต้นเหี่ยวเฉา ใบเหลือง เป็นอาการขาดน้ำของพืชทั่วไป แต่หากพืชอยู่ในระยะกำลังเริ่มสร้างช่อดอกหรือผสมเกสรจะส่งผลให้ช่อดอกไม่พัฒนาต่อ ไม่เกิดการผสมเกสร ผลผลิตจะลดลงตามมา แต่หากติดผลแล้วก็จะสลัดลูกร่วงทิ้ง สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้เพราะพืชไม่สามารถใช้น้ำได้ตามวัฏจักรปกติตามธรรมชาติที่ควรจะเป็น เมื่อใช้น้ำเค็มรดให้ต้นพืช จะมีคราบขี้เกลือสีขาวปรากฏอยู่ทั่วสวน

 

กรมส่งเสริมการเกษตรขอแนะนำวิธีการป้องกันเพื่อรับมือเมื่อน้ำเค็มรุกสวนสำหรับเกษตรกร เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ดังนี้ 1) ติดตามสถานการณ์เตือนภัยจากกรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทาน กรมส่งเสริมการเกษตรอย่างใกล้ชิดที่เว็บไซต์ www.TMD.go.th, www.RID.go.th, www.DOAE.go.th 2) ปิดประตูระบายน้ำในสวนตนเอง พร้อมสำรองน้ำและอุดรูรั่วตามแนวคันสวนโดยรอบเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเค็มเข้าร่องสวน 3) ขุดสร้างคันดินล้อมรอบสวนเพื่อป้องกันการรุกของน้ำเค็ม 4) ลอกเลนตามร่องสวนออก เพื่อเพิ่มพื้นที่การเก็บกักน้ำและดึงน้ำจากดินชั้นล่างให้ไหลออกมาใช้ได้ 5) ดูแลการเขตกรรมในสวนตนเองอย่างใกล้ชิด ด้วยการตัดแต่งกิ่งที่ไม่จำเป็นออก เพื่อลดการคายน้ำ ไม่ปลูกพืชใช้น้ำมากในช่วงนี้ และใช้วัสดุคลุมโคนต้นเพื่อรักษาความชื้นของหน้าดิน เช่น หญ้า ตอต้นกล้วย 6) จัดหาแหล่งน้ำสำรอง เพื่อเก็บน้ำจืดจากแม่น้ำหรือกักเก็บน้ำธรรมชาติ หรือขุดบ่อบาดาลเพื่อนำน้ำใต้ดินขึ้นมาใช้ 7) กรณีน้ำเค็มเข้าสวนแล้วให้รีบระบายน้ำเค็มออกจากแปลงปลูกให้หมด แล้วจัดหาน้ำจืดมาให้แก่ต้นไม้ผล เพื่อช่วยให้ต้นไม้ผลมีชีวิตอยู่รอดอีกทั้งยังช่วยล้างความเค็มของดินออกไปอีกด้วย 8) กรณีเป็นต้นไม้เล็กให้ทำการพรางแสงเพื่อช่วยลดอุณหภูมิที่ผิวดินและลดการคายน้ำของพืช

รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตามในส่วนของภาครัฐไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานในสังกัดบูรณาการการทำงานร่วมกันและดำเนินการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ ซึ่งได้ดำเนินการแล้ว ดังนี้ 1) ทำให้น้ำเค็มเจือจางลง : โดยเพิ่มอัตราการระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาลงมาเพื่อผลักดันน้ำเค็มให้เจือจางลง 2) พึ่งพาอาศัยน้ำจากแหล่งน้ำข้างเคียง : โดยผันน้ำจากแม่น้ำเข้ามาช่วยเติมให้แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่ใหญ่ที่สุดสำหรับการเกษตรภาคกลาง 3) หากสถานการณ์ยังไม่คลี่คลายต้องประสานกรมทรัพยากรน้ำบาดาล (www.DGR.go.th) เพื่อดำเนินการขุดเจาะน้ำบาดาลเพื่อการอุปโภคและบริโภค 4) จัดเจ้าหน้าที่เตือนภัย ติดตามการระบายน้ำ เพื่อรับทราบสถานการณ์การลดระดับความเค็มของน้ำและประสานทำความเข้าใจกับเกษตรกรได้อย่างใกล้ชิด 5) ไม่ส่งเสริมให้มีการทำนาปรังเกิน 2 ครั้งต่อปี และงดทำนาปรังหลังจากเดือนกุมภาพันธ์เนื่องจากไม่มีน้ำเพียงพอสำหรับการเกษตร ต้องสงวนน้ำไว้เพื่อการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศวิทยา เป็นการรักษาน้ำต้นทุนและเก็บน้ำไว้ใช้ก่อนภัยแล้งมาถึง (เดือนเมษายน) โดยกรมอุตุนิยมวิทยาแจ้งว่าปีนี้อาจจะมีฝนตกในช่วงเดือนมิถุนายน ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตรร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคาดการณ์ผลกระทบจากปัญหาน้ำเค็มที่อาจจะเกิดกับพืชสวน เพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการช่วยเหลือเกษตรกรต่อไป สำหรับค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยายังได้ส่งผลกระทบต่อการสูบน้ำดิบเพื่อผลิตน้ำประปาที่ใช้หล่อเลี้ยงคนเมืองกว่า 10 ล้านคน เป็นผลกระทบในวงกว้าง ดังนั้น จึงขอความร่วมมือให้ทุกคนควรช่วยกันควบคุมดูแล รู้จักใช้น้ำอย่างประหยัดและรู้คุณค่าจากสถานการณ์แล้งที่เกิดขึ้นในปีนี้

……………………………………….

อัจฉรา : ข่าว, มกราคม 2563

กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์  กรมส่งเสริมการเกษตร

สำนักส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตร : ข้อมูล