นางกุลฤดี พัฒนะอิ่ม รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวภายหลังการประชุมชี้แจงคู่มือโครงการป้องกันและกำจัดโรคใบด่างมันสำปะหลัง โดยมีผู้แทนจากสำนักงานเกษตรจังหวัด จำนวน 17 จังหวัด พื้นที่พบการระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลัง เข้าร่วมประชุม เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2562 ณ กรมส่งเสริมการเกษตร ว่า กรมส่งเสริมการเกษตร ได้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ พร้อมช่วยเหลือเกษตรกรมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ กรมวิชาการเกษตร รับรองการเกิดโรคใบด่างมันสำปะหลังในประเทศไทย ที่สาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัส Cassava mosaic virus ซึ่งเป็นโรคที่มีความสำคัญ หากระบาดรุนแรงอาจทำให้ผลผลิตเสียหายได้ถึง 100 เปอร์เซ็นต์ เกษตรกรไม่สามารถเก็บผลผลิตได้ เชื้อไวรัสสาเหตุโรคสามารถแพร่ระบาดโดยท่อนพันธุ์มันสำปะหลังและแมลงหวี่ขาวยาสูบ และ ครม. ได้อนุมัติงบประมาณโครงการป้องกันและกำจัดโรคใบด่างมันสำปะหลัง เป็นค่าทำลายต้นที่เป็นโรคและเงินชดเชยให้เกษตรกร กรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้จัดทำคู่มือโครงการ เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถนำไปปฏิบัติ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข พื้นที่เป้าหมาย วิธีการทำลาย การใช้เงิน วิธีการจ่ายเงินชดเชย ที่คณะอนุกรรมการบริหารจัดการโรคใบด่างมันสำปะหลังกำหนด
รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับแผนการขับเคลื่อนการปราบใบด่างมันสำปะหลัง ได้ วางไว้ 4 แนวทาง สำรวจ ชี้เป้า ทำลาย และชดเชย ซึ่งจะต้องทำ โดยรัดกุม พร้อมทั้งปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการอย่างเคร่ดครัด และการทำลาย จะต้องถูกต้อง ตามหลักวิชาการ ได้แก่ วิธีฝังกลบ โดยฝังกลบต้นมันสำปะหลังที่เป็นโรค และต้นข้างเคียงโดยรอบในรัศมี 2 เมตรในหลุมที่ลึกไม่น้อยกว่า 2 – 3 เมตร ราดด้วยสารกำจัดวัชพืช อะมีทรีน 80% WG ซัลเฟนทราโซน 48% SC ไดยูรอน 80% WP อย่างใดอย่างหนึ่งก่อน จึงกลบด้วยดินหนาไม่น้อยกว่า 0.5 เมตร วิธีใส่ถุง/กระสอบ โดยนำต้นมันสำปะหลังที่เป็นโรคตัดเป็นท่อนใส่ถุง / กระสอบมัดปากให้แน่นแล้วนำไปตากแดดไม่น้อยกว่า 7 วัน หรือจนกว่าต้นมันสำปะหลังจะตาย หรือ วิธีบดสับ โดยนำต้นมันสำปะหลังที่เป็นโรคเข้าเครื่องบดป่นหรือเครื่องสับย่อย โดยปูพลาสติกรองพื้นให้เศษต้นที่ถูกทำลายอยู่บนพลาสติก แล้วคลุมกองด้วยพลาสติกตากแดดให้ต้นมันสำปะหลังแห้งตาย ขณะนี้ เริ่มทำลายไปแล้ว กว่า 20,000 ไร่
สำหรับเกษตรกรที่ยินยอมให้ทำลายต้นที่เป็นโรค จะได้รับเงินชดเชย ไร่ละ 3,000 บาท ตามรายละเอียดเงื่อนไขของโครงการ โดยในเบื้องต้นคาดว่าจะสามารถจ่ายเงินให้กับเกษตรกร ได้ ประมาณเดือน กุมภาพันธ์เป็นต้นไป
ทั้งนี้ ขอย้ำให้เกษตรกร และสั่งการเจ้าหน้าที่ให้ทุกพื้นที่ ที่พบการระบาด รวมถึงพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง ไม่ใช้ท่อนพันธุ์ ที่เป็นโรคซ้ำ เด็ดขาด และขอความร่วมมือ เจ้าหน้าที่เกษตรกร สร้างการรับรู้ให้เกษตรกร เฝ้าระวัง และ หมั่นสำรวจแปลงอยู่เสมอ
………………………………………….