วันที่ 3 มกราคม 2563 ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดการแถลงนโยบายแนวทางการขับเคลื่อนภาคเกษตรไทย ปี 2563 โดยมี ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วยผู้บริหารจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมการแถลงข่าวพร้อมกัน ณ ห้องประชุม 134 – 135 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึง สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ และขนาดกลาง ทั่วประเทศว่า ปัจจุบัน(2 ม.ค. 63) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกัน 46,906 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 62 ของความจุเก็บกักรวมกัน โดยมีปริมาณน้ำใช้การได้ 23,070 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 44 ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน เปรียบเทียบกับปี 2558 มีน้ำใช้การเพียง 16,410 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 35 ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 10,987 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 44 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 4,291 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 24 ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน เปรียบเทียบกับปี 2558 มีน้ำใช้การเพียง 3,930 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 22 ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน
สำหรับผลการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2562/2563 กรมชลประทาน ได้มีการจัดสรรน้ำจากอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 17,620 ล้าน ลบ.ม.(น้อยกว่าปีที่แล้วประมาณ 7,000 ล้าน ลบ.ม.) เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก มีปริมาณน้ำจัดสรรรวมทั้งสิ้น 4,000 ล้าน ลบ.ม.(น้อยกว่าปีที่แล้ว 3,700 ล้าน ลบ.ม.) ผลการจัดสรรน้ำฯทั้งประเทศ(ณ 2 ม.ค. 63) มีการใช้น้ำตามแผนฯ ไปแล้วประมาณ 5,558 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 31 ของแผนจัดสรรน้ำฯ เฉพาะในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำตามแผนฯไปแล้วประมาณ 1,707 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 43 ของแผนจัดสรรน้ำฯ
ส่วนแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 2562/63 ได้วางแผนเพาะปลูกพืชทั้งประเทศ รวมทั้งสิ้น 2.83 ล้านไร่ แบ่งเป็น ข้าวนาปรัง 2.31 ล้านไร่ พืชไร่-พืชผัก 0.52 ล้านไร่ ปัจจุบัน(ข้อมูล ณ วันที่ 25 ธ.ค. 62) ได้ทำการเพาะปลูกทั้งประเทศรวม 2.33 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 82 ของแผนฯ แยกเป็นข้าวนาปรัง 2.21 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 95 ของแผนฯ และพืชไร่-พืชผัก 0.12 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 23 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาไม่มีแผนการเพาะปลูกพืช เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนมีไม่เพียงพอต่อการสนับสนุนด้านการเกษตร แต่จากการสำรวจพบว่าบางพื้นที่ได้ทำการเพาะปลูกพืชนอกแผนฯ รวมเป็นพื้นที่ประมาณ 1.54 ล้านไร่ ส่วนใหญ่ใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่ของตนเองในการเพาะปลูก
นอกจากนี้ ยังพบว่ามีพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำนอกเขตการให้บริการของการประปาส่วนภูมิภาคอยู่ 43 จังหวัด ประกอบกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ป.ภ.) ได้ประกาศพื้นที่ประสบภัยแล้ง ในเขต 13 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย น่าน เพชรบูรณ์ นครพนม มหาสารคาม บึงกาฬ หนองคาย บุรีรัมย์ กาฬสินธุ์ นครราชสีมากาญจนบุรี ฉะเชิงเทรา และอุทัยธานี
กรมชลประทาน เตรียมความพร้อมเครื่องสูบน้ำ รถยนต์บรรทุกน้ำ และเครื่องจักกลอื่นๆ ตามสำนักงานชลประทานและพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งทั่วประเทศ เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนให้มีน้ำ สำหรับอุปโภคบริโภคในช่วงฤดูแล้งอย่างเพียงพอ ทั้งนี้ กรมชลประทาน ต้องดำเนินการบริหารจัดการน้ำตามแผนที่วางไว้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความเสถียรภาพและความมั่นคงด้านน้ำ ขอความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วนใช้น้ำตามแผน อย่างประหยัดและคุ้มค่ามากที่สุด
ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) กรมชลประทาน
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
3 มกราคม 2563