กรม สบส. ชวนอสม. ร่วมสกัดอุบัติเหตุ จับตานักดื่มรุ่นเยาว์

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) ชวน อสม.ทั่วประเทศ ช่วยกันสอดส่องการขายสุราแก่เด็กอายุ ต่ำกว่า 20 ปี และประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดี เมาไม่ขับ ง่วงไม่ขับ ขับไม่โทร หวังลดอุบัติเหตุในชุมชนหรือถนนสายรองให้เป็นศูนย์

นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่าในช่วงเทศกาลปีใหม่ ประชาชนส่วนใหญ่เดินทางกลับภูมิลำเนา และเดินทางไปท่องเที่ยวต่างจังหวัด พบว่าในทุกๆปี จะมีสถิติการเกิดอุบัติเหตุมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากการจราจรทางถนนเป็นจำนวนมาก กระทรวงสาธารณสุขได้มีมาตรการต่างๆมากมาย เพื่อลดอุบัติเหตุทางถนน ลดการสูญเสีย ตามที่ได้มีการแถลงข่าวไปเมื่อวันที่ 18 ธันวาคมที่ผ่านมา

สำหรับกรม สบส. นั้น ก็มีความห่วงใยประชาชน และในฐานะหน่วยงานที่มีบทบาทในการพัฒนาศักยภาพพี่น้องอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. ก็ได้มีการเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้ โดยกรม สบส. ได้มีการอบรมพัฒนาศักยภาพ อสม.ให้เป็น อสม.จิตอาสา ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ให้มีความรอบรู้ด้านสุขภาพในเรื่องการปฐมพยาบาลเบื้องต้น มีทักษะการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน (CPR) ให้สามารถช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุฉุกเฉินบนท้องถนนได้อย่างถูกวิธี ก่อนส่งต่อให้บุคลากรทางการแพทย์หรือส่งต่อไปยังสถานพยาบาลได้อย่างปลอดภัย ลดการเสียชีวิตหรือความพิการลงได้ นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ให้ความสำคัญในเรื่องการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่และเวลาที่ห้ามจำหน่าย รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี ตามกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างจริงจัง

ในเรื่องนี้ กรม สบส. ได้ขอความร่วมมือให้ อสม. ช่วยกันเป็นหูเป็นตา สอดส่อง เฝ้าระวังร้านค้าในชุมชนไม่ให้มีการฝ่าฝืนกฎหมายดังกล่าว และกรม สบส.ยังได้ส่งเสริม สนับสนุนองค์ความรู้ในการดูแลและป้องกันอุบัติเหตุ ผ่านแอพพลิเคชั่นสมาร์ท อสม. ให้ อสม.สามารถนำไปส่งต่อความรู้สู่ชุมชน ด้วยการเคาะประตูบ้าน หรือสื่อสารผ่านผู้นำชุมชน หรือสื่อในชุมชน เช่น หอกระจายข่าว วิทยุชุมชน หรือสื่อพื้นบ้านต่างๆ เป็นต้น

“ที่สำคัญ อสม.และบุคคลในครอบครัว ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีในเรื่องการมีพฤติกรรมความปลอดภัย โดยการสวมหมวกนิรภัยหรือคาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้งที่ขับขี่รถ ไม่ขับรถเร็วเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ดื่มไม่ขับ ง่วงไม่ขับ ไม่โทรศัพท์ขณะขับรถ เป็นต้น อย่างน้อยอสม.ทั้งประเทศ ซึ่งมีอยู่กว่า 1 ล้านคน ไม่รวมบุคคลในครอบครัว ช่วยกันปฏิบัติตามกฎจราจร มีพฤติกรรมความปลอดภัยดังกล่าวมา ก็จะช่วยป้องกันหรือลดจำนวนอุบัติเหตุกับคน 1 ล้านคนนี้ได้ และหากทุกๆ คนทั้งประเทศ ช่วยกันตระหนักและเคร่งครัดกับการป้องกันภัยบนท้องถนนอย่างจริงจัง การที่จะลดจำนวนอุบัติเหตุทางถนนให้เป็นศูนย์ อย่างน้อยๆไม่ให้เกิดเหตุบนถนนในเขตชุมชน หรือถนนสายรอง ก็มีโอกาสเป็นจริงได้” นายแพทย์ธเรศ กล่าว