นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(รมว.ทส.) เป็นประธานในพิธีเปิดงานวันคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ ประจำปี 2562 ภายใต้แนวคิด “อนุรักษ์สัตว์ป่า รักษาสมดุลโลก” ร่วมด้วยนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นายนิมิต วันไชยธนวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี นายจงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ นายประกิต วงศรีวัฒนกุล รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ นายสมปอง ทองศรีเข้ม ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ประชาชนและเยาวชนในพื้นที่ เข้าร่วมกิจกรรม ณ ศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวาก อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงที่มาของวันคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ ว่า การคุ้มครองสัตว์ป่าในประเทศไทย เริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2443 โดยมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติช้างป่า รศ. 119 (พ.ศ. 2443) เพื่อควบคุมการล่าช้างป่า ต่อมาเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2503 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เมื่อครั้งดำรงพระยศสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ และทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ ลงพระนามในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ตราพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503 จึงถือได้ว่าการอนุรักษ์สัตว์ป่าของไทยได้ดำเนินการอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2511 รัฐบาลได้กำหนดให้วันที่ 26 ธันวาคม ของทุกปีเป็น “วันคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ”
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมายังพบปัญหาของสัตว์ป่าในด้านต่างๆ เช่น ปัญหาการล่าสัตว์ป่า ส่งผลให้สัตว์ป่าหลายชนิดลดลงหรือบางชนิดสูญพันธุ์ ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับสัตว์ป่า ได้แก่ ช้างป่า ลิง เหี้ย งูเหลือม เป็นต้น การลักลอบการค้าสัตว์ป่า ซึ่งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ร่วมกับหลายภาคส่วน ในการแก้ปัญหาระหว่างคนกับสัตว์ป่าอย่างต่อเนื่อง เช่น การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเฝ้าระวังช้างป่าด้วยระบบเตือนภัยล่วงหน้า บริเวณพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ การตั้งคณะทำงานด้านการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย การประชุมเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการสวนสัตว์สาธารณะ การสร้างความรับรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนรวมถึงเจ้าหน้าที่ผู้ปฎิบัติงานภายใต้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ พ.ศ.2562) ตลอดจนการรณรงค์ ลด ละ เลิกการใช้พลาสติก/โฟม เพื่อลดจำนวนขยะ อันจะส่งผลกระทบต่อสัตว์ป่าและทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการบริหารจัดการ เพื่อให้สัตว์ป่าในประเทศไทย ซึ่งถือว่าเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติในประเทศ จะต้องมีสัตว์ป่าอยู่คู่กับทรัพยากรธรรมชาติตลอดไป
สำหรับการจัดงานวันคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ ประจำปี 2562 ภายใต้แนวคิด “อนุรักษ์สัตว์ป่า รักษาสมดุลโลก”นั้น จัดขึ้นเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติและน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และเพื่อสนับสนุน ส่งเสริม รณรงค์ให้เกิดการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สัตว์ป่าจากทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานราชการ องค์กรภาคเอกชน มูลนิธิ ชุมชน ตลอดจนเยาวชนและประชาชน ให้เห็นถึงความสำคัญของสัตว์ป่า จัดขึ้นโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ระหว่างวันที่ 26-29 ธันวาคม 2562 ณ ศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวาก อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี
ซึ่งกิจกรรมในพิธีเปิดงานวันที่ 26 ธ.ค.62 ประกอบด้วย นิทรรศการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี กิจกรรมและนิทรรศการที่เน้นด้านเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น การจัดงานวันคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ การแก้ปัญหาและลดความขัดแย้งระหว่างคนกับสัตว์ป่าให้สามารถอยู่ร่วมกันได้ ซึ่งมีกรณีที่น่าสนใจในการแก้ไขปัญหาประชากรงูเหลือมที่นับวันจะเพิ่มมากขึ้นและสร้างปัญหาให้กับประชาชน ซึ่งสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้มีวิธีการดำเนินการอย่างเป็นขั้นเป็นตอนอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ตลอดจนการแก้ปัญหาตัวเหี้ย ทั้งการจับ การดูแล การให้ความรู้กับประชาชนในพื้นที่ชุมชนเมื่อพบตัวเหี้ย การแก้ไขปัญหาลิงที่สร้างความปัญหาให้ชุมชน เป็นต้น ตลอดจนการสร้างความรับรู้ความเข้าใจกับประชาชนในเรื่อง พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ขยะกับผลกระทบต่อสัตว์ป่า การเสวนาในหัวข้อ “อนาคตสัตว์ป่าไทย”ผู้ร่วมเสวนา คุณแสงเดือน ชัยเลิศ มูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม คุณศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร ดร.บริพัฒน์ ศิริอรุณรัตน์ สัตวแพทย์ คุณเบญจศิริ วัฒนา ดารา/นักแสดง ดำเนินรายการโดยนายสมโภชน์ มณีรัตน์ โฆษกกรมอุทยานแห่งชาติฯ กิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ภายในบริเวณพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวาก การจำหน่ายสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณ์ (OTOP) 10 ร้าน เป็นต้น
—————————————————————–