สธ. สร้างห้องปลอดฝุ่นในศูนย์เด็กเล็ก ช่วยเด็กไทยปอดสะอาด สุขภาพดี

กระทรวงสาธารณสุข จัดกิจกรรม “ปลอดฝุ่น ปอดสะอาด เด็กไทยสุขภาพดี” กำหนดมาตรการดูแลและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ประชาชนกลุ่มเสี่ยงในโรงเรียน ศูนย์เด็กเล็กและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลให้ปลอดภัยจากฝุ่นละอองและลดความเสี่ยงต่อสุขภาพ

วันนี้ (23 ธันวาคม 2562) นายธนิตพล ไชยนันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังเปิดกิจกรรม “ปลอดฝุ่น ปอดสะอาด เด็กไทยสุขภาพดี” ณ สถานอนามัยเด็กกลาง สถาบันพัฒนาอนามัย เด็กแห่งชาติ กรมอนามัย ว่ารัฐบาล ได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศไทย โดยได้กำหนดเป็นหนึ่งในวาระแห่งชาติ ที่ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ให้ความสำคัญและร่วมกันดำเนินการป้องกันแก้ไขปัญหา เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งมลพิษทางอากาศเป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดการเจ็บป่วยและเสียชีวิต ทั้งโรคระบบทางเดินหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือด และมะเร็งปอด โดยเฉพาะผลกระทบต่อเด็ก ซึ่งเป็นกำลังสำคัญของประเทศในอนาคต โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ระบุว่า เด็กอายุ 0 – 5 ปี กว่า 570,000 คน เสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศทุกปี เนื่องจากเด็กมีความอ่อนแอและภูมิต้านทานต่ำ ปอดยังพัฒนาไม่เต็มที่ อัตราการหายใจถี่ และมีผิวหนังบอบบางกว่าผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพร่างกายสมบูรณ์ และเด็กมักใช้เวลาทำกิจกรรมนอกบ้านหรืออาคาร อีกทั้งยังเคลื่อนไหวมากกว่าผู้ใหญ่ ทำให้เด็กมีการหายใจเอาปริมาตรอากาศเข้าสู่ร่างกายสูงกว่าผู้ใหญ่ รวมทั้งยังส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทางระบบประสาทและความสามารถทางปัญญาของเด็ก ซึ่งในประเทศไทยมีเด็ก 0 – 6 ปีกว่า 2.6 ล้านคน อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงมลพิษทางอากาศ

นายธนิตพล กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญในการป้องกันปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ และส่งเสริมสุขภาพเพื่อให้เด็กมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีพัฒนาการสมวัย มีคุณภาพ ตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วน รวมถึงบุคลากรที่ดูแลเด็ก ให้มีมาตรการดูแลและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก   ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญ เพื่อให้เด็กสัมผัสฝุ่นละอองให้น้อยที่สุด ทั้งการลดกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงที่ฝุ่นสูง สวมหน้ากากป้องกันฝุ่นที่ถูกต้อง การจัดห้องปลอดฝุ่นสำหรับเด็กเล็ก และงดการทำกิจกรรมที่ทำให้เกิดฝุ่น ทั้งการเผากลางแจ้ง การจุดธูป จอดรถติดเครื่องทิ้งไว้ เพื่อลดความเสี่ยงต่อสุขภาพที่อาจจะเกิดขึ้นได้

ทางด้านแพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร  อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีศูนย์เด็กเล็กภายใต้สังกัดหน่วยงานรัฐที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงมลพิษทางอากาศ จำนวน 9,061 แห่ง ประกอบด้วย ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสังกัด กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจำนวน 7,643 แห่ง สังกัดกรมอนามัย จำนวน 7 แห่ง และสังกัดกรุงเทพมหานคร จำนวน 307 แห่ง และสังกัดเอกชนกว่า 1,104 แห่ง ที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ดังนั้น กรมอนามัย จึงได้กำหนดแนวทางการดูแลสุขภาพเด็กเพื่อป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจาก PM 2.5 ตั้งแต่ที่บ้าน สถานดูแลเด็ก และโรงเรียน เพื่อช่วยให้เด็กได้รับอากาศที่สะอาดลดความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายต่อสุขภาพ รวมถึงสร้างสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตที่ดีของเด็ก ซึ่งการจัดทำห้องปลอดฝุ่นสำหรับสถานดูแลเด็กและโรงเรียน ควรเตรียมการไว้ดังนี้ 1) เลือกห้องที่มีสถานที่ตั้งห่างจากแหล่งกำเนิดฝุ่นละออง เช่น ถนน ลานจอดรถ พื้นที่ก่อสร้าง และไม่มีแหล่งกำเนิดมลพิษภายในห้อง เช่น จุดเทียน จุดธูป หรือกิจกรรมอื่นที่เป็นแหล่งกำเนิดควัน 2) เลือกห้องที่มีช่องว่างของประตู หรือ หน้าต่าง น้อยที่สุด หากมีห้องที่มีเครื่องปรับอากาศควรเลือกห้องนั้น 3) หลีกเลี่ยงอุปกรณ์ที่เป็นแหล่งสะสมของฝุ่นละอองภายในห้อง เช่น พรม หนังสือ ตุ๊กตาที่มีขน ฯลฯ 4) ปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิด และทำความสะอาดโดยใช้ผ้าชุบน้ำเช็ด/ถู นอกจากนี้ ควรคำนึงถึง ความหนาแน่นของเด็กที่เข้ามาพักภายในห้องให้เหมาะสม ไม่ควรน้อยกว่า 3.0 – 5.0 ตารางเมตรต่อคน รวมทั้ง พ่อแม่ ผู้ปกครอง ผู้ดูแลเด็ก ต้องคอยสังเกตอาการผิดปกติของเด็ก เช่น ไอบ่อย หายใจลำบาก หายใจถี่ หายใจไม่ออก หายใจ มีเสียงวี้ด หรือแสบจมูก ให้รีบไปพบแพทย์ สำหรับเด็กที่มีโรคประจำตัวควรเตรียมยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นให้พร้อม และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์

————————————————-